event 2018 05
พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์
       ในส่วนพระราชฐานชั้นในติดกําแพงพระราชวังหลวงด้านทิศตะวันตก คือบริเวณที่ตั้งของพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ หรือที่เอกสารประวัติศาสตร์บางฉบับเรียกว่าพระที่นั่งท้ายสระ บางแห่งเรียกว่าพระที่นั่งกลางน้ํา เพราะพระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นที่กลางสระน้ําในเขตพระราชฐานชั้นในมีการขุดคูน้ําจากคลองท่อ ซึ่งอยู่นอกพระราชวังให้ไหลเข้าในสระ มีการจัดระบบไหลเวียนของน้ําทําให้น้ําในสระใสสะอาด เอกสารประวัติศาสตร์ไทยกล่าวตรงกันหลายฉบับว่าพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์สร้างขึ้นรัชกาลพระเพทราชา แต่หากศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างละเอียด โดยเฉพาะบันทึกของชาวต่างชาติ ซึ่งระบุว่าได้เคยเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ พระที่นั่งกลางน้ําในเขตพระราชฐานชั้นใน อีกทั้งมีการบรรยายลักษณะสิ่งก่อสร้างรายละเอียดต่าง ๆ ของพระที่นั่ง ตลอดจนบรรยากาศต่าง ๆ ตรงกับร่องรอยโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่ จึงควรเชื่อได้ว่าพระที่นั่งองค์นี้มีอยู่แล้วในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และคงใช้เป็นที่ประทับ ทรงต้อนรับแขกเมือง และในรัชสมัยต่อมาก็ยังใช้เป็นที่ประทับจนถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งในรัชกาลนี้กล่าวว่า มีการซ่อมแซมพระที่นั่งครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งด้วย
                 พระมหากษัตริย์ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา โปรดฯ ใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประทับพักผ่อน และว่าราชการชาวต่างชาติบรรยายถึงความงดงามและบรรยากาศที่สุขสบายของพระที่นั่งองค์นี้ รายรอบพระที่นั่งยังมีพระตําหนักและอาคารขนาดเล็กสําหรับทรงใช้ประโยชน์ต่าง ๆ อาทิ กลางสระด้านเหนือมีพระตําหนักสําหรับพระสงฆ์ถวายเทศน์มหาชาติ กลางสระด้านตะวันออกมีพระที่นั่งไม่มีหลังคาสําหรับทรงประทับดูดาว ด้านทิศใต้เป็นพระที่นั่งสําหรับประทับโปรยข้าวตอกเลี้ยงปลาในสระ ด้านทิศตะวันตกเป็นอ่างน้ําที่ตกแต่งสวยงาม เรียกว่าอ่างแก้ว มีการสร้างภูเขาและน้ําตกจําลอง ตกแต่งด้วยแผ่นหินและปะการังจากทะเล คงได้แบบอย่างตามความนิยมของพระที่นั่ง และอุทยานของราชสํานักชาติตะวันตก พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ตั้งอยู่ใกล้ส่วนของพระราชฐานชั้นใน คือเป็นที่ประทับส่วนพระองค์และของสตรีฝ่ายใน แต่ในระยะหลังเอกสารประวัติศาสตร์กล่าวว่ามีการปรับการใช้พื้นที่พระราชวังในส่วนนี้ให้เป็นส่วนหน้าว่าราชการรับกับข้อมูลประวัติศาสตร์ และร่องรอยโบราณคดีที่เห็นว่ามีอาคารหรือพระที่นั่งขนาดเล็กอื่น ๆ ที่สร้างเพิ่มขึ้น เช่น พระที่นั่งทรงปืน ก็คงตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันนี้
                พระที่นั่งมีผังจัตุรมุข อาจปูพื้นด้วยไม้ บันไดทางขึ้นลงที่มุขหน้าและมุขหลัง เครื่องยอดพระที่นั่งสันนิษฐานว่าเป็นทรงปราสาทยอดเดียว มีร่องรอยอ่างแก้ว และยังมีหลักฐานเกี่ยวกับการจัดน้ําประปา และระบบชลประทานที่ทันสมัยเหลือให้เห็นในปัจจุบัน ส่วนอาคาร สิ่งก่อสร้างที่กล่าวว่าสร้างอยู่กลางสระ ไม่ปรากฏซากเหลืออยู่