พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท

event 2018 03
     พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ถัดจากพระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ ลักษณะเป็นปราสาทจัตุรมุขยอดปรางค์ห้ายอด มียอดปรางค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง และยอดปรางค์เล็กที่มุมทั้งสี่ ตัวปราสาทตกแต่งด้วยลายปูนปั้น ตั้งอยู่บนฐานสูงซ้อนกันสามชั้น แต่ละชั้นมีระเบียงลูกกรงแก้วโดยรอบ ที่ฐานชั้นเดียวกับตัวปราสาทมีหอไฟรูปโดมโปร่งที่มุมทั้งสี่
จากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 25 กล่าวถึง พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทโดยสรุปว่า พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทเป็นปราสาทหลังน้อยยอดปรางค์ สร้างขึ้นด้วยทรงมีพระราชดำริว่า พระราชวังใหญ่แต่โบราณ เช่น พระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่เมืองลพบุรีย่อมมีปราสาท จึงทรงสร้างขึ้นเป็นสังเขปที่พระนครคีรี
     ภายในพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทปัจจุบัน ประดิษฐานพระบรมรูปหล่อสำริดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์แบบใหม่ที่มีพระราชดำริขึ้น คือ ฉลองพระองค์คอตั้ง แขนยาว ผ่าหน้า กลัดกระดุมทับพระภูษาโจง ทรงคาดผ้ารอบบั้นพระเอว ปลายเป็นพู่ คาดพระแสงกระบี่แนบพระองค์ ทรงพระมาลากลมแบบสก๊อต ทรงประดับสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝรั่งเศส พร้อมด้วยดาราเหนือพระอุระซ้าย ฉลองพระบาทหนัง พระหัตถ์ขวาทรงถือพระแสงกระบี่ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือหนังสือ ประทับยืนภายใต้นพปฎลเศวตฉัตร ซึ่งฉลองพระองค์ชุดนี้เคยทรงเมื่อเสด็จออกรับทูตานุทูตมาแล้ว พระบรมรูปองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภให้สร้างขึ้น เพื่อที่จะส่งไปถวายจักรพรรดินโปเลียนที่  3  แห่งฝรั่งเศสเป็นการตอบแทน จึงโปรดให้ส่งพระบรมฉายาลักษณ์ไปให้นายชาตรูส ช่างชาวฝรั่งเศสหล่อที่ประเทศฝรั่งเศส ชาตรูสได้จำลองหุ่นด้วยปูนปลาสเตอร์ส่งเข้ามาถวายทอดพระเนตรก่อน แต่ไม่โปรด เพราะไม่เหมือนพระองค์ จึงโปรดให้ พระยาหัตถการบัญชา จางวางช่างสิบหมู่เป็นผู้แต่งพระบรมรูปองค์นี้ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เข้าพระทัยว่าหลวงเทพรจนา (พลับ) ภายหลังได้เป็นพระยาจินดารังสรรค์เป็นผู้ปั้น) เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรพระบรมรูปที่ช่างไทยปั้นถวายก็พอพระทัย ด้วยลักษณะพระบรมรูปมีความเหมือนที่พระพักตร์และพระวรกายไม่อ้วนท้วนมีกล้ามเนื้อเป็นฝรั่งเหมือนอย่างผลงานของนายเอมีล ฟรองซัวร์ ชาตรูส อย่างไรก็ตามมิได้มีการหล่อพระบรมรูปองค์นี้ตามพระราชประสงค์ เพราะเหล่าขุนนางท้วงว่าเป็นเรื่องอัปมงคลที่ต้องเอาพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งเทไฟหลอมให้ละลาย จึงได้แต่เพียงหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์และทาสีแทน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบรมรูปจึงยังคงค้างอยู่ในหอเสถียรธรรมปริตร ต่อมาย้ายไปประดิษฐานที่หอพระราชพงศานุสรในพระบรมมหาราชวังจนตลอด  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปประดิษฐานไว้  ณ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทตามพระดำรัสแนะนำของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ   กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นทรงอัญเชิญไปประดิษฐาน เวลาผ่านไปจนกระทั่ง พุทธศักราช 2503 ในรัชกาลที่ 9 ได้เกิดอสุนีบาตตกลงที่พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ทำให้พระบรมรูปที่ทำด้วยปูนชำรุดเสียหาย จึงได้มีพระราชดำริให้ซ่อมแซมเหมือนเดิม ต่อมาพระราชนัดดาและพระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์ทรงเห็นว่าควรหล่อพระบรมรูปนี้ให้เป็นโลหะถาวรตามหุ่นปูนปลาสเตอร์เดิมเสีย จึงได้หล่อพระบรมรูปเป็นสำริดขึ้น 3 องค์ และอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ สถานที่สำคัญ 3 แห่ง คือ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทบนพระนครคีรี หอพระจอม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร
     พระบรมรูปองค์นี้ นอกจากจะเป็นปูชนียวัตถุสำคัญเป็นที่เคารพนับถือของชาวเพชรบุรีแล้ว ยังเป็นเครื่องแสดงถึงความสามารถของฝีมือช่างไทยในครั้งนั้นอีกด้วย
    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาในพระราชพิธีฉลองสมโภชพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเช้าวันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พุทธศักราช 2505