พระที่นั่งสันถาคารสถาน

event 2018 05

พระตำหนักสันถาคารสถานและอาคารบริวาร 8 หลัง พระตำหนักสันถาคารสถาน อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่แวดล้อมด้วยอาคารบริวาร 8 หลัง ตั้งอยู่ทางขวามือของทางขึ้น ก่อนถึงพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ด้านในอาคารมีห้องรับรองอยู่ตอนกลาง สองข้างเป็นห้องนอนขนาดเล็ก ด้านขวาของตัวอาคารมี 5 ห้อง ด้านซ้ายมี 4 ห้อง มีมุขหน้ายื่นออกมาทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ประทับทอดพระเนตรนาฏศิลป์ ที่มีโรงมหรสพตรงลานด้านหน้าทิศตะวันออก

พระตำหนักที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในที่ตามเสด็จมาประทับที่พระนครคีรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล 5 ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (พระองค์เจ้าหญิงละม่อม) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2418 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 เมื่อคราวดยุคโยฮัน อัลเบรกต์และดัชเชส มาประทับที่พระนครคีรีนั้น หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ซึ่งได้ตามเสด็จในคราวนั้น ทรงบันทึกไว้ว่า พระตำหนักสันถาคารสถานและอาคารบริวารทั้ง 8 หลัง ใช้เป็นที่พักของเจ้านายและข้าหลวงที่ออกไปคอยต้อนรับพระราชอาคันตุกะ

โรงมหรสพ หรือ โรงโขน ตั้งอยู่ด้านหน้าพระตำหนักสันถาคารสถาน เหนือศาลาด่านหน้า ก่อเวทีกว้าง 8 เมตร ยาว 27 เมตร มีกำแพงทึบเป็นฉากกั้นกลาง มีประตู 2 ข้างฉาก ส่วนหลังขนาดเท่าเวทีเป็นที่แต่งตัวและที่พักของพวกละครหรือโขน เวทีอยู่หน้าพระตำหนักสันถาคารสถาน พื้นลานด้านหน้าแต่เดิมปูด้วยอิฐ คราวที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ มีการพระราชพิธีโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ และพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้ามัณยาภาธร บนพระนครคีรีนั้น ในวันสมโภชเมื่อวันจันทร์ แรม 5 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด ฉศก จ.ศ. 1226 (พ.ศ. 2407) เวลาค่ำ โปรดเกล้าฯ ให้มีละครหลวงแสดงเรื่องอิเหนา มีเจ้าจอมมารดาวาด พระสนมเอก (ในรัชกาลที่ 5 ได้เป็น ท้าววรจันทร์) แสดงเป็นอิเหนา โดยในครั้งนี้ได้โปรดให้ชาวบ้านประชาชนทั่วไปได้ขึ้นมาดูละครหลวงด้วย นอกจากนี้ยังทรงให้จุดโคมลอยประทีป จนมีเหตุ โคมประทีปลอยไปตกบนโรงละครเกิดไฟไหม้ แต่ดับได้ทัน