หอพิมานเพชรมเหศวร์

event 2018 07

หอพิมานเพชรมเหศวร์และอาคารประกอบ หอนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาขนาดเล็กด้านทิศตะวันออก หน้าพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นกลุ่มอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวยกพื้นสูง 3 หลัง ประกอบด้วย

หอพิมานเพชรมเหศวร์หรือที่พระบาทสมเด็จพระจอมเหล้าเจ้าอยู่หัวเรียกว่า หอศาสตราคม เป็นหอกลาง มีขนาดใหญ่กว่าสองหอด้านข้าง เมื่อวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก พุทธศักราช 2403 (ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2403) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทำบุญฉลองหอศาสตราคมนี้ ทั้งได้อัญเชิญพระไชยสำริดกะไหล่กับพระหายโศก แห่จากกรุงเทพฯ มาประดิษฐานไว้ ลักษณะหอศาสตราคมเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นเดียว ยกพื้นสูง มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันตก ภายในแบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องด้านทิศเหนือเป็นที่สำหรับทำพิธีสวดพระพุทธมนต์ มีแท่นประดิษฐานพระพระพุทธรูป ปัจจุบันประดิษฐานพระไชยสำริดกะไหล่ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนพระหายโศกนั้น ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ห้องด้านทิศใต้ก่อผนังกั้นไว้เป็นห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จมาประทับถือศีลอุโบสถในวันธรรมสวนะขณะประทับอยู่บนพระนครคีรี ทำนองเดียวกับหอเสถียรธรรมปริตรในพระบรมมหาราชวัง ภายในมีพระแท่นบรรทมไม้พื้นเป็นหวายลายดอกพิกุล และจากบัญชรห้องบรรทมนี้จะเห็นพระธาตุจอมเพชรและพระวิหารน้อย ที่อยู่ทางยอดเขากลางและยอดเขาทิศตะวันออก

หอเทพารักษ์หรือหอพระภูมิ ตั้งอยู่ด้านขวาของหอกลาง เป็นที่สำหรับประดิษฐานเทวรูป ลักษณะเป็นอาคารขนาดเล็กชั้นเดียว ยกพื้นสูง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีบันไดขึ้น ภายในมีแท่นยกสูงสร้างติดกับผนังอาคารด้านทิศตะวันออก สำหรับประดิษฐานเทพารักษ์หรือพระภูมิ รอบแท่น 3 ด้าน เขียนตกแต่งเป็นลวดลายเขียนสีบนพื้นขาว อย่างศิลปะจีน มี 3 สี คือ เขียว แดง และดำ โดยเขียนเป็นลวดลายมงคลในคติจีน เนื้อหาสื่อถึง โชคลาภ ยศศักดิ์ และอายุยืนยาว ดังนี้ ผนังด้านทิศตะวันตก (ด้านหน้า) เขียนภาพมังกรขดตัวเป็นวงกลมอยู่ท่ามกลางก้อนเมฆ หันหัวออกมาด้านหน้า มุมทั้งสี่ของผนังเขียนลวดลายมงคล 4 ชนิด ล้อมรอบด้วยกรอบสี่เหลี่ยมลายดอกโบตั๋นและกิ่งก้านสลับกับภาพค้างคาว ผนังแท่นด้านทิศเหนือ เขียนภาพดอกเบญจมาศในกระถางต้นไม้สี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนกี๋หกเหลี่ยม ล้อมรอบด้วยลายดอกโบตั๋นและลายมงคลตามคติจีน ผนังด้านทิศใต้ เขียนภาพแจกันดอกไม้ขนาดใหญ่อยู่กลางผนังแท่น ภายในแจกันปักดอกเบญจมาศ ล้อมรอบด้วยสัตว์มงคลตามคติจีน ได้แก่ ค้างคาว แมลงปอและผีเสื้อ ภายนอกอาคารด้านหน้าของหอเทพารักษ์มีแท่นหินสำหรับวางเครื่องบูชา เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับพระนครคีรี ก็จะเสด็จมายังหอเทพารักษ์ เพื่อถวายเครื่องบูชาเทวรูปในหอนี้

หอประโคมสังคีต ตั้งอยู่ด้านซ้าย เป็นที่สำหรับประโคมในคราวประกอบพิธีกรรม ปัจจุบันยังมีเสาสะดึงไม้สำหรับแขวนฆ้องชัยปรากฏอยู่

บนพื้นลานด้านหน้าหอกลาง ด้านข้างทั้งสองมีฐานเสาธงข้างละต้น สำหรับชักธงมงกุฎ ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับบนพระนครคีรี

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 7 ประกาศปีฉลู พุทธศักราช 2408 กล่าวว่า หอพิมานเพชรมเหศวร์นี้ได้ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีโสกันต์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพักตรพิมลพรรณ (พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาแพ ธรรมสโรช) และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร (พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาจันทร์) เป็นพระราชพิธีโสกันต์ในหัวเมือง โดยมีพระราชดำริ ตามประกาศ ดังนี้ “...เมื่อปีชวด ฉศก พระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์คือพระองค์เจ้าพักตรพิมลพรรณ์ พระองค์เจ้า มัณยาภาธร มีพระชนมายุเจริญถึงกำหนดควรจะโสกันต์ จึงทรงพระราชดำริห์ว่า ในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชาธิเบศรมหาราชปราสาททอง ได้มีการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอินณที่ประทับเกาะบ้านเลนเปนอย่างมา ก็ครั้งนี้พระราชวังที่ประทับเปนที่ประพาสก็มีหลายตำบล จึงโปรดให้มีการแห่โสกันต์เปนการใหญ่อย่างครั้งก่อน ที่พระนครคิรีณเมืองเพ็ชรบุรี ตามอย่างซึ่งเคยมีในโบราณนั้นอิกครั้งหนึ่ง ในเดือนยี่ปีชวดฉศก ศักราช 1226 ตรงกับปีคฤศตศักราช 1864...”

หอพิมานเพชรมเหศวร์นี้อยู่ห่างจากหมู่พระที่นั่งอื่น ๆ ไม่มากนัก สะดวกแก่การรักษาความปลอดภัย แต่ก็เป็นสัดส่วนอิสระเหมาะกับที่พระองค์ทรงเจริญบำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างยิ่ง