ประวัติที่มาและความสำคัญ

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา ประมาณ 60 กิโลเมตรเป็นศาสนาสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิมหายานชื่อ “พิมาย” นั้นน่าจะเป็นคำเดียวกันกับชื่อ “วิมายะ” ที่ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินกรอบประตูโคปุระระเบียงคดด้านหน้าของปราสาทพิมายคำว่า “พิมาย” นั้นปรากฏเป็นชื่อเมืองในศิลาจารึกพบในประเทศราชอาณาจักรกัมพูชาประชาธิปไตยหลายแห่ง แม้รูปคำจะไม่ตรงกันว่าเมืองวิมาย หรือวิมายะปุระ (จารึกปราสาทพระขรรค์ พุทธศตวรรษที่ 18) โดยเฉพาะข้อความในจารึกปราสาทพระขรรค์ที่กล่าวว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างที่พักคนเดินทาง จากราชธานีมาเมืองพิมายรวม 17 แห่งแสดงถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเมืองพิมายกับอาณาจักรเขมรและแสดงว่าเป็นเมืองสำคัญ บริเวณที่ตั้งของปราสาทพิมายเมื่อดูจากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นได้ชัดว่าเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคู และ กำแพงเมืองล้อมรอบมีศาสนสถานอยู่กลางเมืองแวดล้อมด้วยชุมชนใหญ่น้อยรายรอบเป็นกลุ่มใหญ่ ตัวเมืองพิมายเองตั้งอยู่ที่ทำเลที่ดีและอุดมสมบูรณ์ เพราะมีลำน้ำไหล

ผ่านรอบเมืองได้แก่ แม่น้ำมูลไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออกด้านทิศใต้มีลำน้ำเค็มทางด้านทิศตะวันตกมีลำน้ำ จักราชไหลผ่านไปบรรจบกับแม่น้ำมูล บริเวณโดยรอบเป็นที่ราบลุ่มสามารถทำการกสิกรรมได้ดีแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคภายในเมือง ได้แก่ สระแก้ว สระพลุ่ง สระขวัญสระน้ำที่ขุดขึ้นภายนอกเมือง คือ สระเพลงทางทิศตะวันออก สระโบสถ์ และสระเพลงแห้งทางทิศตะวันตกและอ่างเก็บน้ำ (บาราย)ขนาดใหญ่อยู่ทางทิศใต้จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบันเป็น ปากประตูเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นศูนย์กลางสำคัญของภาคอีสานของประเทศไทยด้วยพัฒนาการ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มนุษย์รู้จักเพียงการใช้หินมาทำเครื่องมือเครื่องใช้จนกระทั่งมนุษย์ในอดีตที่ราบสูงบริเวณแอ่งโคราชแห่งนี้ รู้จักเทคนิควิธีการตัดหินจากภูเขาและยกเอาหินก้อนใหญ่ ๆ มาเป็นระยะทางไกลๆ เพื่อก่อสร้างสิ่งที่เราเรียกว่า "ปราสาท" ปราสาทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ ปราสาทพิมาย เป็นศูนย์กลางและเป็นปากประตูสำคัญจากลุ่มแม่น้ำมูล ไปสู่เมืองพระนครของอาณาจักรกัมพูชาและบ้านเมืองในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างน้อยตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา

พิมายเป็นเมืองโบราณในลุ่มแม่น้ำมูลที่มีอดีตอันรุ่งเรืองและมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมากตัวเมืองโบราณมีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน มีประตูเมืองทั้ง 4 ทิศก่อด้วยศิลา ที่สำคัญคือประตูเมืองด้านทิศใต้ที่หันหน้าไปสู่ เมืองพระนครในประเทศกัมพูชาปัจจุบันกลางเมืองมีศาสนสถานขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยหินตั้งอยู่คือปราสาทพิมายนั่นเอง

ปราสาทพิมายนับเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายานที่สร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 กล่าวคือสร้างขึ้นก่อนปราสาทนครวัด เชื่อว่าส่วนยอดหรือหลังคาปราสาทพิมายเป็นต้นแบบของการก่อสร้างปราสาทนครวัดของเขมรในสมัยต่อมา เนื่องจากปราสาทพิมายนี้หันหน้าไปทางทิศใต้จึงเข้าใจว่าเพื่อรับกับถนนที่ตัดมาจากกัมพูชา และมีการสร้างอโรคยาศาลาและที่พักเดินทาง ขึ้นตามแนวถนนจนถึงพิมายในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของกัมพูชาโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในเมืองพิมาย มีอยู่หลายแห่งทั้งนอกเมืองและในเมืองที่สำคัญได้แก่ปราสาทพิมาย เดิมมีสภาพปรักหักพังทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ในพุทธศักราช 2507 กรมศิลปากรได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศฝรั่งเศสบูรณซ่อมแซมปราสาทประธานของปราสาทพิมายจนแล้วเสร็จ ในพุทธศักราช 2512 ต่อมาเมืองพิมายและปราสาทพิมายก็ได้รับการพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์พิมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ดำเนินการบูรณะโบราณสถานตั้งแต่ พุทธศักราช 2525 เป็นต้นมา จนแล้วเสร็จและเปิด เป็นอุทยานประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พุทธศักราช 2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธี

สิ่งก่อสร้างที่ประกอบกันขึ้นเป็นปราสาทพิมายนั้นมีแผนผังเป็นระเบียบได้สัดส่วนสัมพันธ์ตามกฎเกณฑ์ที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาซึ่งต้องใช้กำลังคน เวลา และความอุตสาหะเป็นอย่างสูงสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้แสดงถึงพลังแห่งศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อศาสนาพร้อมกันนั้นยังแสดงถึงบารมีอันยิ่งใหญ่ของผู้สร้างที่สามารถนำเอาแรงงานมนุษย์มากมายมหาศาลมาเนรมิตศาสนสถานซึ่งเปรียบเสมือนจักรวาลจำลองขึ้นไว้ในโลกมนุษย์สิ่งที่ค่อนข้างจะพิเศษต่างไปจากปราสาทอื่นๆที่ส่วนใหญ่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกแต่ปราสาทพิมายสร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ สันนิษฐานกันว่าคงจะสร้างหันหน้าไปสู่เมืองพระนครเมืองหลวงอาณาจักรเขมรหรือเป็นคติทางศาสนาที่ควรศึกษากันต่อไปปราสาทพิมายคงจะเริ่มสร้างมาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกในพุทธศตวรรษที่ 18 ทั้งนี้โดยกำหนดอายุจากหลักฐานต่าง ๆ เช่น ศิลาจารึก ลักษณะทาง ติดกับสถาปัตยกรรมและภาพจำหลักประดับ ซึ่งในปราสาทศิลปกรรมเขมรนิยมแกะสลักลงในเนื้อหินตามส่วนต่าง ๆ ของอาคารเช่น หน้าบันทับหลัง เสาประดับกรอบประตู และเสาประดับผนังภาพจำหลักเหล่านี้นอกจากจะแสดงลักษณะทางศิลปะที่ช่วยให้กำหนดอายุสมัยได้แล้วยังสามารถศึกษาคติทางศาสนาขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น ๆได้

การดำเนินงานของกรมศิลปากร

พุทธศักราช 2479 ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพิมายในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่34 วันที่ 27 กันยายน 2479 พุทธศักราช 2507-2512 ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศสผ่านทางองค์การสนธิสัญญาป้องกันว่าร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) ดำเนินการบูรณะปราสาทพิมายด้วยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) โดยมี นายแบร์นาร์ด ฟิลลิปป์ โกรส์ลิเยร์ (Bernard Phillip Groslier) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส และศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์เป็นผู้อำนวยการบูรณะ พุทธศักราช 2519-2532 กรมศิลปากรได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พิมายขึ้นมาทำการบูรณะและปรับปรุงเมืองพิมายจนแล้วเสร็จและเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จฯพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2532 ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ พิมายสังกัดสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลบำรุงรักษาโบราณสถานโดยรอบเมืองพิมายให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรงสวยงามและสะอาดเหมาะสมแก่การท่องเที่ยว ตลอดจนบริการข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีของเมืองพิมายแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนผู้สนใจโดยทั่วไป