ประวัติและความสำคัญ

พุทธศักราช 2478 ราชบัณฑิตยสภาประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า “พระพุทธบาทบัวบก” อำเภอบ้านผือ ตำบลเมืองพาน

พุทธศักราช 2516 - 2517 คณะสำรวจโบราณคดี โครงการผามอง สำนักงานพลังงานแห่งชาติ ได้สำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนผามอง เดินทางมาสำรวจพบแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่งบนภูพระบาท ซึ่งบางแห่งได้เคยสำรวจพบแล้วโดยหน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น พุทธศักราช 2524 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 98 ตอนที่ 63 วันที่ 28 เมษายน  2524  หน้า 1214 ระบุว่า “โบราณสถานพระพุทธบาทบัวบก ที่ภูพระบาท เนื้อที่ประมาณ 19,062 ไร่ ปรากฏว่าเนื้อที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และจำนวนเนื้อที่ตามข้อเท็จจริงคือประมาณ 3,430 ไร่”

พุทธศักราช 2531 ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ ขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้นมีดำริเห็นควรดำเนินการพัฒนาพื้นที่ของภูพระบาทขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีความพร้อมหลายด้านด้วยกัน อาทิ จำนวนโบราณสถานมากมายทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ซึ่งประกาศเขตโบราณสถานแล้ว ป่าไม้ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และประติมากรรมหินตามธรรมชาติ

พุทธศักราช 2532 เริ่มโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น โดยจัดทำแผนงานโครงการและจัดหางบประมาณมาดำเนินการอนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดีและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก

พุทธศักราช 2535 กรมศิลปากรกราบทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535

ที่ตั้ง

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่าภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นเทือกเขาหินทราย อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ 320 – 350 เมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีพืชพันธุ์ธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุม

ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปกร กระทรวงวัฒนธรรม มีโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 78 แห่ง มีภารกิจหลักในการดูแลรักษา อนุรักษ์และพัฒนา และทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานและโบราณวัตถุที่อยู่ภายในพื้นที่อุทยานฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังเปิดให้บริการในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่มีจุดเด่นแตกต่างจากแห่งอื่นๆ เนื่องจากโบราณสถานส่วนมากที่พบอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ โดยโครงสร้างแล้วเกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธรณีสัณฐานของพื้นที่ ต่อมามนุษย์ในอดีตได้เข้ามาดัดแปลงเพื่อสนองต่อวัฒนธรรมในแต่ละช่วงสมัย

ธรณีวิทยาบนภูพระบาท

พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทนั้น มีลักษณะทางธรณีวิทยาอยู่ในหมวดหินภูพานของหินชุดโคราช เป็นหินทรายสีเเดงของมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic) มีอายุตั้งเเต่ปลายยุคไทรแอสซิค (245 - 208 ล้านปี) – ครีเทเชียส (146 – 65 ล้านปี) จนถึงยุคเทอร์เชียรีของมหายุคซีโนโซอิค (65 – 5 ล้านปี) โดยชั้นหินทรายนี้วางตัวอยู่บนพื้นผิวของหินมหายุคพาลีโอโซอิกตอนบน (286 - 245 ล้านปี)

เพิงหินรูปร่างต่างๆที่พบในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทนั้น เกิดจากการที่ชั้นหินทรายเเต่ละชั้นมีความคงทนต่อการกัดเซาะตามธรรมชาติที่เเตกต่างกัน โดยหินทรายชั้นกลางเป็นหินทรายเนื้ออ่อนที่มีการจับตัวของผลึกเเร่ไม่เเน่น จึงสึกกร่อนจากการกัดเซาะได้ง่ายกว่าหินชั้นบนเเละชั้นล่างซึ่งเป็นหินทรายปนหินกรวดมน เนื้อเเน่นเเข็ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดเพิงหินที่มีส่วนกลางคอดเว้าคล้ายดอกเห็ด หรือสึกกร่อนจนเหลือเพียงเสาค้ำตามมุมคล้ายโต๊ะหิน กลายเป็นประติมากรรมทางธรรมชาติที่สวยงามแปลกตามองดูราวกับว่าก้อนหินเหล่านี้ถูกยกขึ้นมาวางโดยมนุษย์

ปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยาลักษณะนี้ มิได้พบเเค่ในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเท่านั้น เเต่กระจายตัวอยู่หลายเเห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เช่นที่ ภูผาเทิบจังหวัดมุกดาหาร เสาเฉลียง จังหวัดอุบลราชธานี เขาจันทร์งาม จังหวัดนครราชสีมา

อารยธรรมที่พบบนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

จากการศึกษาลักษณะ และเนื้อหาสาระของภาพเขียนสีแล้ว ทำให้นักโบราณคดีมีความเห็นว่า ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในประเทศไทยนั้น มีทั้งภาพการดำรงชีวิตด้วยการหาของป่าล่าสัตว์เเละภาพการทำเกษตรกรรม จึงน่าจะมีอายุในช่วงราว 3,000 – 2,500 ปีมาเเล้ว ซึ่งเป็นสมัยที่มนุษย์รู้จักการทำเกษตรกรรมเเละการทำเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะเเล้ว

ภาพเขียนสีที่พบบนภูพระบาทมีทั้งเเบบเขียนด้วยสีเดียว (Monochrome) คือสีเเดง เเละหลายสี (Polychromes) คือสีเเดง ขาว เหลือง ตัวภาพเเบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1. ภาพเสมือนจริง (ภาพคน, สัตว์, พืช, สิ่งของ)

2. ภาพนามธรรม (ภาพสัญลักษณ์, ลายเรขาคณิต)

สีที่นำมาใช้เขียนนั้น สันนิษฐานว่าเป็นสีที่นำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติเช่น ดินเทศ แร่เฮมาไทต์ โดยอาจนำสีที่ได้นี้ไปผสมกับของเหลวที่มีคุณสมบัติเป็นกาว เช่น ยางไม้ เสียก่อนเเล้วจึงนำมาเขียน เพื่อให้สีติดกับเพิงหินทนนาน

ยุคประวัติศาสตร์

พื้นที่บนภูพระบาท เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 หรือราว 1,400 – 1,000 ปีมาแล้ว ได้รับเอาวัฒนธรรมทวารวดีที่แพร่มาจากภาคกลางของประเทศไทย พร้อมกับคติความเชื่อทางพุทธศาสนา ทำให้เกิดการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เนื่องในพุทธศาสนาขึ้น ได้แก่ การตกแต่งหรือดัดแปลงเพิงหินให้เป็นศาสนสถาน โดยมีรูปแบบการติดตั้งใบเสมาหินทรายล้อมรอบเอาไว้

ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 อิทธิพลศิลปกรรมแบบเขมร ซึ่งแพร่หลายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้เข้ามามีบทบาทในแถบนี้ ที่ถ้ำพระมีการตกแต่งสกัดหินเป็นรูปพระโพธิสัตว์และรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเขมร ที่วัดพระพุทธบาทบัวบานและที่วัดโนนศิลาอาสน์ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับภูพระบาท มีการสลักลวดลายบนใบเสมาหินทรายเป็นเรื่องพุทธประวัติและชาดก ซึ่งมีลวดลายตามรูปแบบศิลปกรรมแบบเขมร

หลังจากช่วงสมัยทวารวดีและเขมรผ่านไป ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 – 23 วัฒนธรรมล้านช้าง ได้แพร่เข้ามาที่ภูพระบาท พบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปเช่น พระพุทธรูปที่ถ้ำพระเสี่ยง ส่วนด้านสถาปัตยกรรมพบหลักฐานที่วัดลูกเขย

นิทานพื้นบ้านเรื่อง “อุสา – บารส”

ผู้คนในท้องถิ่นได้นำเอานิทานพื้นบ้านเรื่อง “อุสา – บารส” มาตั้งชื่อโบราณสถานที่ต่าง ๆ บนภูพระบาท การเที่ยวชมโบราณสถานบนภูพระบาทจึงควรต้องรู้เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ เพื่อจะได้เข้าใจที่มาของชื่อตลอดจนทราบถึงคติความเชื่อของชุมชนได้เป็นอย่างดี

เนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวความรักอันไม่สมหวังระหว่างนางอุสา ธิดาของท้าวกงพาน กับท้าวบารส ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าเมืองปะโคเวียงงัว โดยเรื่องราวเริ่มจากนางอุสาได้ทำการเสี่ยงทายหาคู่ ด้วยการทำมาลัยรูปหงส์ลอยไปตามลำน้ำ ซึ่งท้าวบารสเป็นผู้ที่เก็บได้ จึงออกตามเจ้าของมาลัยเสี่ยงทายนั้น จนมาถึงเมืองพานและได้พบกับนางอุสา ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน เมื่อท้าวกงพานทราบเรื่องจึงวางอุบายให้มีการแข่งขันสร้างวัดกันภายในหนึ่งวัน โดยผู้ที่แพ้การแข่งขันจะต้องตาย ฝั่งท้าวบารสเสียเปรียบเพราะมีคนน้อยกว่าจึงใช้เล่ห์กลอุบายนำโคมไฟไปแขวนบนยอดไม้เพื่อลวงให้ฝ่ายท้าวกงพานคิดว่าเป็นยามเช้าตรู่แล้ว จึงพากันเลิกสร้างวัดและพ่ายแพ้ไปในที่สุด และถูกตัดศีรษะ หลังจากนั้นนางอุสาได้ไปอยู่กับท้าวบารสที่เมืองปะโคเวียงงัว แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งจึงหนีกลับเมืองพาน ในขณะที่ท้าวบารสไปบำเพ็ญเพียรในป่าเพียงลำพัง ต่อมาเมื่อท้าวบารสทราบเรื่องจึงได้ออกเดินทางไปตามนางอุสา ณ เมืองพาน แต่พบว่านางอุสาได้สิ้นใจเพราะความตรอมใจไปก่อนหน้านั้นแล้ว ท้าวบารสเสียใจอย่างสุดซึ้งจึงตรอมใจตายตามนางอุสาไป