ประวัติที่มาและความสำคัญ

ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่บ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากปราสาทพนมรุ้งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร

ตัวปราสาทและหมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินดินรูปร่างค่อนข้างกลมอยู่สูงกว่าระดับพื้นชายเนินที่เป็นท้องนาประมาณ 1-2 เมตร ที่ตั้งของตัวปราสาทปัจจุบันมีวัดปราสาทบูรพารามอยู่ทางทิศตะวันออก ทางทิศเหนือมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หรือบารายซึ่งเรียกกันว่า ทะเลเมืองต่ำ กว้างประมาณ 510 เมตร ยาวประมาณ 1,090 เมตร ส่วนทางทิศใต้และทิศตะวันตกแวดล้อมไปด้วยบ้านเรือนของราษฎร

แหล่งน้ำที่มีความสำคัญต่อบ้านโคกเมือง ได้แก่ ทะเลเมืองต่ำและลำห้วยปูน ซึ่งเป็นสาขาของห้วยประเทียอยู่ทางทิศเหนือ ห้วยน้ำขุ่นอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งต่างเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 และประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษที่ 83 ง วันที่ 21 กันยายน 2541 เนื้อที่ 538 ไร่ 2 งาน 1 ตารางวา (ร่วมกับบารายเมืองต่ำ)

ประวัติการอนุรักษ์

ภายหลังจากอาณาจักรกัมพูชาเสื่อมลงในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นเหตุให้ศาสนสถานอิทธิพลวัฒนธรรมของขอมเสื่อมโทรม ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง เช่นเดียวกับปราสาทเมืองต่ำที่ถูกทิ้งร้างไปเป็นระยะเวลายาวนาน

จนกระทั่งถึงสมัยล่าอาณานิคม นักสำรวจและนักวิชาการชาวฝรั่งเศส ได้บันทึกการสำรวจ ดินแดน และร่องรอยของศาสนสถานต่างๆ ไว้ ชื่อ “ปราสาทเมืองต่ำ” ได้ปรากฏในรายงานการสำรวจ เมื่อปี พุทธศักราช 2444 และ พุทธศักราช 2450 ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อบ้านนามเมืองว่า ชื่อ “เมืองต่ำ” อาจจะกำหนดเรียกโดยเปรียบเทียบสภาพที่ตั้งกับปราสาทพนมรุ้งซึ่งอยู่บนยอดเขา

ปี คริสต์ศักราช 1910 จากหนังสือ Le Cambodge Tome II ผู้เขียนคือ Aymonier, E. หน้า 131 กล่าวว่า

“ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองประโคนชัย 2 – 3 โยชน์ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และจากเขาพนมรุ้ง 1 โยชน์ ไปทางใต้ จากเขาพนมได (Phnom Dei) (เขาปลายบัดปัจจุบัน) 1 โยชน์ทางทิศตะวันออก ชื่อเมืองต่ำนี้เป็นภาษาไทย ดูจะเป็นกรณีไม่ปกติสำหรับท้องที่ที่ชาวบ้านพูดเขมรตรงกับคำว่า NOKOR TEAP หรือ BANTEAI TEAP อาจเป็นเพราะชื่อนี้ถูกเรียกโดยฝั่งตรงข้ามอย่างดูถูกที่อาจอาศัยอยู่ที่เมืองสูงใกล้พนมรุ้ง ก่อนอื่นที่เราจะพบกับบารายขนาดใหญ่เรียกว่า ละหาน หรือ ทะเล ที่ไม่ได้ถูกขุดขึ้นทางทิศตะวันออก แต่กลับเป็นทางทิศเหนือ วัดขนาดได้ 550 x 1,200 เมตร มีขอบเป็นคันดินยกสูงโดยรอบกว้าง 40 เมตร ลำธารที่พักจะแห้งในหน้าแล้งไหลมาจากพนมได เข้าสู่บารายที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือและไหลออกไปอีกครั้งที่มุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงมีประตูน้ำที่เป็นตัวควบคุมระดับของน้ำ หรือแม้แต่ใช้ปล่อยน้ำออกเพื่อให้จับปลาได้ง่ายขึ้น

ด้วยระยะ 100 เมตร ไปทางใต้ของบารายเป็นที่ตั้งของโบราณสถานที่เรียกในปัจจุบันว่าเมือง หรือ กำแพง มีต้นไม้จำพวกมะม่วง มะพร้าวขึ้นอยู่ แสดงถึงการเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนเมื่อประมาณ 1 หรือ 2 ชั่วอายุคนมาแล้ว แต่ในปัจจุบันปรากฏว่ากลายเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขังและรกร้างปราศจากผู้คน กำแพงแก้วชั้นนอกเป็นศิลาแลงสูง 3 เมตร ล้อมรอบบริเวณเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 160 เมตร แนวตะวันออก – ตะวันตก และ 120 เมตรในแนวเหนือ – ใต้ เจาะช่องเป็นประตูขนาดใหญ่ตรงแกนหลักทั้งสี่ด้าน ภายในระหว่างกำแพงแก้วและศาสนสถาน เป็นที่ตั้งของสระน้ำรูปมุมฉากกว้าง 10 เมตร บุสระสี่ด้วยศิลาแลงเรียงเป็นรูปขั้นบันได มีทางเดินตามแนวแกนไปจบที่ส่วนกลางของทุกด้าน ทางเดินทางทิศเหนือมีบ่อน้ำขนาดเล็กลึก ๑ เมตร บุด้านศิลาแลง ปัจจุบันไม่มีน้ำขังอยู่

ตัวอาคารซึ่งยกระดับสูงขึ้นตั้งบนกำแพงกันดินสูง 1 เมตร รวมประตูทางเข้าขนาดใหญ่ทางด้านตะวันออก ขนาบข้างด้วยระเบียงคดที่กินพื้นที่เต็มทั้งด้าน มีประตูขนาดเล็กอีก 2 ประตู แยกอยู่ทางด้านทิศเหนือและใต้ ส่วนทางด้านตะวันตกมีเพียงบันไดทางขึ้น และปราสาทอิฐ 5 องค์ที่มีขนาดแตกต่างกัน องค์กลางผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชาวพื้นเมืองเรียกว่าพระวิหาร ประติมากรรมมีอยู่เป็นจำนวนมากในโบราณสถานที่อยู่ในสภาพปรักหักพังเป็นส่วนใหญ่แห่งนี้”

ในปี คริสต์ศักราช 1907 จากข้อเขียนเรื่อง Inventaire Descriptif Des Monuments Du Cambodge Tome II เขียนโดย Delajonguiere,E.Lunet. มี Ernest Leroux เป็นบรรณาธิการ หน้า 215 – 238 ความว่า

"เมืองต่ำ (MOEUONG TAM) ที่เรียกเช่นนี้อาจจะเนื่องมาจากสภาพที่ตั้งเมื่อเปรียบเทียบกับปราสาทพนมรุ้ง น่าแปลกที่มีชื่อเรียกเป็นไทย ทั้งที่ตั้งอยู่ในท้องที่ที่หมู่บ้านส่วนใหญ่ยังมีชื่อเป็นเขมร แต่อย่างไรก็ไม่สำคัญขนาดเอามาพิจารณาถึงความสำคัญระหว่างสองปราสาทนี้

ปราสาทเมืองต่ำตั้งอยู่ทางใต้ของบารายใหญ่ที่โดนถมไปบางส่วนประกอบด้วย 1. กลุ่มปราสาท 2. ระเบียงคดชั้นใน 3. สระน้ำภายใน 4. กำแพงแก้วชั้นนอก

1. สิ่งก่อสร้าง 5 หลังสร้างด้วยอิฐ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในแถวหน้ามีปราสาท 3 องค์เรียงกันในแนวเหนือ – ใต้ ส่วนแถวหลังมีปราสาทอีก 2 องค์ ตั้งสับหว่างอยู่ ปราสาทเหล่านี้เป็นแบบธรรมดาสามัญมากเมื่อพิจารณาจากทุกแง่ องค์กลางอยู่แถวหน้ามีขนาดใหญ่กว่าองค์อื่นๆ อาจมีมุขยื่นตรงประตูด้านหน้าสร้างอยู่บนฐานศิลาแลงที่ยกสูงกว่าองค์อื่นๆในกลุ่ม นี่คือทั้งหมดที่เห็นได้เนื่องจากอยู่ในสภาพปรักหักพัง และยังถูกแก้ไขดัดแปลงเอาวัสดุจากซากโบราณสถานไปใช้โดยคนพื้นเมือง

ส่วนประกอบของอาคารล้อมรอบ อยู่ในสภาพที่ดีกว่า มีความละเอียดลออแต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ ทับหลังเป็นแบบธรรมดาเห็นได้ทั่วไปเป็นแบบที่ 3 มีการเล่าเรื่องดังนี้

1. องค์ทางเหนือของแถวหน้าสลักรูปพระสิวะ นางปาวตีและโคนันทิ (อุมามเหศวร)

2. องค์ทางใต้แถวหน้า เป็นรูปบุคคลไม่แน่ว่าเป็นใคร

3. องค์ทางใต้แถวหลังเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ (พระวรุณ)

4. องค์ทางเหนือแถวหลังเป็นรูปบุคคลไม่แน่ว่าเป็นใคร

2. ระเบียงคดชั้นใน ล้อมรอบกลุ่มปราสาท 5 องค์ ถูกสร้างขึ้นไปบางส่วน ผนังยังไม่เสร็จจนถึงชั้นที่ต่อกับโค้งประทุนที่ทำหลังคา เป็นระบบของระเบียงคดแคบๆ ด้านนอกเป็นผนังตันเต็มๆ เปิดเป็นช่องหน้าต่างจำนวนมากหันเข้าลานโล่งด้านใน ตรงกลางของระเบียงคดทั้งสี่ด้านเป็นที่ตั้งของโคปุระ มีเพียงสามด้านที่สร้างเสร็จคือด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศใต้ โดยด้านที่สี่เพิ่งจะเริ่มลงมือ

ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ สร้างจากศิลาทรายเหมือนกับระเบียงคดแต่มีผนังปิดล้อมเป็นห้องเฉพาะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเปิดออกสู่ทางด้านยาวทั้งสองด้าน โดยมีประตูที่ยื่นออกไปเป็นมุขที่การก่อสร้างประณีตมาก การตกแต่งทั่วไปเป็นแบบธรรมดา ทับหลังเป็นแบบที่ 3 ที่มีการดัดแปลงเล็กน้อย ปรากฏภาพบุคคลต่างๆที่ส่วนใหญ่จะระบุไม่ได้ว่า คือใคร ที่พบจะชัดเจนที่สุดก็มีเพียงที่ประตูทางทิศตะวันออก ด้านในของโคปุระตะวันออก เป็นรูปลิงเล่นกับนาค (กฤษณะปราบนาคกาลิยะ)

โบราณสถานทั้งหมดตั้งอยู่บนเนินสูงกว่าบริเวณโดยรออบ โดยได้ทำเป็น กำแพงกันดินที่มีลวดบัวประดับเป็นฐาน หน้าต่างจริงหน้าต่างหลอกมีขนาดใหญ่และประดับด้วยลูกมะหวด 7 ต้น

3. สระน้ำภายใน ระเบียงคดชั้นในถูกล้อมรอบด้วยสระน้ำรูปมุมฉากกว้างประมาณ 15 เมตร เว้นช่วงกลางของแต่ละด้านด้วยทางเดินกว้าง 10 เมตร ที่เข้าสู่โคปุระชั้นใน ทำให้แบ่งเป็นสระอยู่ตรงมุม 4 สระ ขอบสระชั้นบนทำด้วยศิลาทรายเป็นรูปลำตัวนาค ซึ่งส่วนหัวยื่นออกหรือหันเข้าสู่ส่วนมุม

4. กำแพงแก้วชั้นนอกเป็นกำแพงศิลาแลงที่มีการประดับส่วนกำแพงสูง 3.75 เมตร ล้อมรอบกลุ่มอาคารภายในเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตรงส่วนกลางแต่ละด้านเป็นที่ตั้งของโคปุระขนาดใหญ่สร้างด้วยศิลาทราย มีประตุทางเข้า 3 ประตู ทางเข้าตรงกลางผ่านห้องซึ่งเป็นรูปกากบาท จากการที่มุขยื่นออกมาทั้งสองด้าน ขณะที่ห้องด้านข้างที่ยังคงติดต่อได้กับห้องกลางได้กลายเป็นทางเข้ารอง โดยที่ส่วนประตูไม่มีมุขยื่น ตัวอาคารได้รับการออกแบบในสัดส่วนที่ใหญ่โตด้วยความประณีต ทั้งในฝีมือการก่อสร้าง แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ เช่น ส่วนหลังคาซึ่งเริ่มทำ เพียงบางส่วน การประดับประดาก็ยังคงค้างไม่เสร็จหรือแม้แต่ยังไม่ได้โกลนขึ้นรูปในบางจุด

รูปด้านตะวันออกของกำแพงแก้วทิศตะวันออกเหมือนรูปแบบปกติ พื้นที่ทางด้านหน้าลดระดับลงไปทำเป็นฐานที่มีลวดบัวและบันไดทางขึ้น ส่วนมุขยื่นด้านนอกของโคปุระด้านนี้พังทลายลงหมด แต่เราอาจสามารถพบทางเดินปูพื้นหิน ประกอบเสานางเรียงต่อยาวไปทางด้านหน้า”

พุทธศักราช 2472 เริ่มมีการสำรวจโดยเจ้าหน้าชั้นสูงของไทย คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จฯ ทอดพระเนตรปราสาทเมืองต่ำในคราวเสด็จตรวจโบราณวัตถุสถานในมณฑลราชสีมา

พุทธศักราช 2478 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทเมืองต่ำและประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถานเมื่อปี พุทธศักราช 2541

พุทธศักราช 2530- 2539 กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะปราสาทเมืองต่ำ ด้วยวิธีอนัสติโลซิส พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์และก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกจนเสร็จสมบูรณ์

พุทธศักราช 2540 กรมศิลปากรได้กราบทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดปราสาทเมืองต่ำอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 เนื่องในมหามงคลสมัยแห่งปีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539 แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

การอนุรักษ์ปราสาทเมืองต่ำ

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทเมืองต่ำตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๔๘๗ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 23 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2578 และได้จัดทำโครงการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้โบราณสถานกลับคืนสู่สภาพเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ให้คงอยู่เป็นมรดกตกทอดสู่คนรุ่นต่อๆ ไปและเปิดให้เป็นแหล่งทัศนศึกษา โดยเริ่มจากการขุดแต่งหาหลักฐานเมื่อ พุทธศักราช 2531 และ 2532 รวมทั้งการขุดตรวจทางโบราณคดี

หลังจากนั้นจึงเริ่มทำการบูรณะใน พุทธศักราช 2533 โดยใช้วิธีอนัสติโลซีส สำหรับโบราณสถานที่สร้างด้วยหิน ส่วนปราสาทอิฐไม่สามารถรื้อออกประกอบใหม่ได้เช่นที่ทำกับหิน จึงทำการบูรณะเสริมความมั่นคงเท่าที่สามารถทำได้ เช่น รื้อฐานศิลาแลงส่วนที่ทรุดออกแล้วหล่อคอนกรีตเสริมส่วนฐานที่ทรุดเอียงแล้วเรียงศิลาแลงกลับเข้าที่เดิม ส่วนที่ชำรุดไม่มากก็ใช้วิธีรื้อออกแล้วเรียงใหม่ให้เข้ามุมเข้าฉากตามรูปเดิม อิฐที่ผุและเลื่อนออกก็รื้อเฉพาะส่วนมาทำความสะอาดแล้วจึงเรียงกลับเข้าไปใหม่ พร้อมทั้งใช้อิฐใหม่เสริมในส่วนที่จำเป็นเสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างโดยเสริมคานคอนกรีต ส่วนบนของปราสาทที่พังทลายเกิดเป็นช่องโหว่ ใช้แผ่นคอนกรีตปิดทับแล้วเรียงอิฐปิดอีกชั้นหนึ่ง ส่วนฐานและองค์ปราสาทที่มีรอยแตกแยกทำการเจาะเย็บซ่อมรอยแยก ทับหลังที่ร่วงหล่นลงมายกขึ้นกลับไปติดตั้งที่เดิมโดยหล่อคานคอนกรีตรับน้ำหนัก และสกัดหินเป็นเสาแปดเหลี่ยมรองรับทับหลังในกรณีที่ไม่มีเสาเดิมเหลืออยู่

ส่วนอาคารที่สร้างด้วยหินทรายทำการบูรณะโดยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) คือ รื้อถอดชิ้นส่วนของเดิมลงมาจนถึงฐานรากโดยเขียนรหัสกำกับไว้ทุกก้อน รวมทั้งลงไว้ในแผนผัง ชิ้นส่วนที่พังลงมาแล้วก็ทำเช่นเดียวกันเพื่อจะได้นำกลับมาเรียงไว้ในที่เดิมได้อย่างถูกต้อง จากนั้นเสริมความแข็งแรงของฐานรากโดยบดอัดดินฐานรากเสียใหม่แล้วเสริมด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เสร็จแล้วนำชิ้นส่วนกลับมาเรียงประกอบเข้าที่เดิมตามลักษณะและรูปแบบเดิม

การบูรณะรวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ปราสาทเมืองต่ำแล้วเสร็จใน พุทธศักราช 2539 และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงเป็นประธานในวันที่ 10 ตุลาคม 2540

ศิลปะและสถาปัตยกรรม

ปราสาทเมืองต่ำเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าเป็นอย่างสูง ก่อสร้างด้วยวัสดุ 3 ชนิด คือ อิฐ ศิลาแลง และหินทราย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่กว้างประมาณ 120 เมตร ยาวประมาณ 127 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออกประกอบด้วยอาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ ดังนี้ คือ

  1. กำแพงแก้วและซุ้มประตู
  2. สระน้ำ
  3. ระเบียงคดและซุ้มประตู
  4. บรรณาลัย
  5. ปราสาทอิฐ 5 องค์
  6. บาราย (ทะเลเมืองต่ำ)