อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่เมืองโบราณกำแพงเพชร ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำสามารถติดต่อกับที่ราบลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านในท้องที่จังหวัดพิจิตรและพิษณุโลกได้และยังต่อเนื่องไปถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำป่าสักในจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนพื้นที่ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นภูเขา จากลักษณะทางภูมิประเทศดังกล่าว พบว่ามีความเหมาะสมในการตั้งชุมชนโบราณมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สามารถใช้ติดต่อกับชุมชนในพื้นที่ราบได้สะดวก และเป็นชุมชนพักสินค้าเพื่อเปลี่ยนแบบแผนการคมนาคมจากที่ราบสู่เขตภูเขาที่ขึ้นไปทางทิศเหนือและทางทิศตะวันตกต่อไป

เมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์พื้นที่บริเวณนี้ได้เป็นตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการทำสงคราม โดยเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองสุโขทัยกับกรุงศรีอยุธยาและล้านนา ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ในเมืองกำแพงเพชรได้แสดงลักษณะที่เกี่ยวเนื่องกับดินแดนทั้งสามแห่ง และได้พัฒนาต่อยอดลักษณะทางศิลปะ รวมทั้งแสดงออกมาในรูปแบบของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชรได้อย่างสวยงาม ถือเป็นเอกลักษณ์ที่ โดดเด่นและชัดเจน

เมืองโบราณกำแพงเพชรมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู วางตัวเป็นแนวขนานไปกับแม่น้ำปิง กำแพงเมืองแต่เดิมมีลักษณะเป็นคันดินและคูน้ำสามชั้น ต่อมาได้มีการพัฒนากำแพงเมืองชั้นในเป็นกำแพงก่อด้วยศิลาแลง เชิงเทินตอนบนก่อเป็นรูปใบเสมาและมีป้อมประตูโดยรอบ


p 01
  p 08

กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองโบราณกำแพงเพชรมาอย่างต่อเนื่องทั้งการประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตโบราณสถาน รวมทั้งการก่อตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรขึ้น แล้วจึงมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2534 โดยขอบเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรในปัจจุบันพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมดรวม 2,114 ไร่ หรือ 3.34 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่

1. เขตกำแพงเมือง มีพื้นที่ 503 ไร่ ตั้งอยู่ในขอบเขตของเมืองกำแพงเพชรโบราณบนฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง มีคูเมืองและกำแพงเมืองศิลาแลงรอบล้อม

2. เขตอรัญญิก มีพื้นที่ 1,611 ไร่ ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกรัง นอกเขตกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ

ปีพุทธศักราช 2534 คณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลกได้ประกาศในการประชุม ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซียให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชรเป็นมรดกโลก เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรมที่มีความงดงามและเป็นผลงานชิ้นเอกที่ได้รับการสร้างสรรค์จากอัจฉริยภาพด้านศิลปะอย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นพยานหลักฐานที่แสดงขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออารยธรรมซึ่งยังคงหลงเหลือและปรากฏให้เห็น