ประวัติและความสำคัญ

ชุมชนดั้งเดิมก่อนเมืองกำแพงเพชร

จังหวัดกำแพงเพชรมีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่ ประกอบไปด้วย ที่ราบลุ่ม เนินเขาและภูเขาสูงที่มีความเหมาะสมต่อการคมนาคม การเกษตรกรรมและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ปรากฏให้เห็นพัฒนาการด้านสังคมและวัฒนธรรมมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จวบจนกระทั่งในปัจจุบัน

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดกำแพงเพชร พบหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งบอกถึงร่องรอยชุมชนในสมัยหินใหม่  ลักษณะสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมที่เริ่มมีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งตีความได้จากการศึกษาและสำรวจแหล่งโบราณคดีในระยะที่ผ่านมา เช่น แหล่งโบราณคดี เขากะล่อน บ้านหาดชะอม ตำบลป่าพุทรา อำเภอขาณุวรลักษบุรี ซึ่งเป็นภูเขาดินลูกรัง พบโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือหินขัดทั้งชนิดมีบ่าและไม่มีบ่า เครื่องมือหินรูปร่างคล้ายใบมีดและหินลับ ภาชนะดินเผา ตุ้มถ่วงแหดินเผา แวดินเผา เครื่องประดับทำจากหินและแก้ว รวมทั้งชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์

นอกจากนี้ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงสมัยโลหะ และมีการพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัย โดยสมัยโลหะมีแหล่งโบราณคดีที่ปรากฏหลักฐานการถลุงโลหะในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรที่สำคัญ คือ แหล่งโบราณคดีมอเสือตบ บ้านคลองเมือง อำเภอโกสัมพีนคร พบชิ้นส่วนเตาที่ใช้  ถลุงโลหะและชิ้นส่วนตะกรันจำนวนมาก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตะกรันของแร่ทองแดงและเหล็ก ซื่งมีความร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านคลองเมือง อำเภอโกสัมพีนคร ส่วนแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ พบการใช้เครื่องมือสำริด เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านคอปล้อง อำเภอบึงสามัคคี พบเครื่องมือเครื่องใช้สำริด และเครื่องประดับทำจากสำริด เช่น กำไลสำริด กระพรวนสำริด แหล่งโบราณคดีบ้านหนองกอง อำเภอเมืองกำแพงเพชร พบภาชนะทำจากสำริด เป็นต้น และเมื่อเข้าสู่สมัยเหล็ก ซึ่งนับเป็นระยะเวลาที่ผู้คนเริ่มมีแบบแผนการดำรงชีพการทำการเกษตรกรรมอย่างเข้มข้น สภาพสังคมและวัฒนธรรมมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น แหล่งโบราณคดีในบริเวณนี้ นอกจากจะพบโบราณวัตถุเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กแล้ว ยังพบการรับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอกแล้วพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ต่อไป คือ การเลือกทำเลในการตั้งชุมชนที่ต่างไปจากเดิม โดยเริ่มตั้งใกล้กับแม่น้ำสาขาใหญ่ เช่น เมืองโกสัมพี หรือเมืองโบราณบ้านคลองเมือง ที่พบหลักฐานของแนวคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และเมืองไตรตรึงษ์ ที่พบร่องรอยคูน้ำดิน 2 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมมุมมน จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองไตรตรึงษ์ ได้พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาและตะเกียงดินเผาแบบทวารวดี รวมทั้งตะกรันเหล็กจำนวนมาก ซึ่งได้มีพัฒนาการที่ต่อเนื่องไปจนถึงสมัยสุโขทัย จากการที่พบเครื่องปั้นดินเผาสุโขทัย เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง รวมทั้งโบราณสถานที่ปรากฏลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัย คือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่วัดเจดีย์เจ็ดยอด และวัดวังพระธาตุ

นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานเอกสารประเภทตำนานที่กล่าวถึงเมืองกำแพงเพชรในช่วงก่อนสมัยสุโขทัยจากตำนานสิงหนวัติกุมารระบุว่าพุทธศักราช 1480 เจ้าพรหมกุมารได้ทำสงครามชิงเมืองโยนกจากขอมดำ มาทางใต้ ขับไล่มาเดือนหนึ่งก็ถึงเมืองกำแพงเพชรอันเป็นดินแดนรัฐเก่า และได้กล่าวถึงกำแพงเพชรอีกครั้งว่าในปีพุทธศักราช 1547 พระเจ้าไชยศิริ กษัตริย์เวียงชัยปราการ อพยพมอญมาที่เมืองร้างตรงฟากฝั่งกำแพงเพชร และตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำปิง รวมทั้งในเอกสารชินกาลมาลีปกรณ์ ได้กล่าวถึงตำบลบ้านโค ซึ่งอาจหมายถึงบ้านโคน หรือเมืองคณฑี ว่าเป็นบ้านเดิมของพระโรจนราช หรือพระร่วงแห่งเมืองสุโขทัย ในช่วงพุทธศักราช 1800

จากหลักฐานต่าง ๆ ที่พบในแหล่งโบราณคดีทั้งหมด สามารถสันนิษฐานได้ว่ากำแพงเพชรมีชุมชนมาก่อนสมัยสุโขทัยที่มีลักษณะวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในภาคกลางของประเทศไทย กำหนดอายุได้ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 – 18 การพบแหล่งโบราณคดีและหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งสำคัญที่แสดงให้ถึงพัฒนาการทางด้านสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บริเวณจังหวัดกำแพงเพชรได้เป็นอย่างดี

เมืองกำแพงเพชรในสมัยสุโขทัย

ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง) และศิลาจารึกหลักที่ 2 (ศิลาจารึกวัดศรีชุม) ได้กล่าวถึงบทบาทของเมืองสำคัญในระดับนครของแคว้นสุโขทัยในระยะแรกประกอบด้วยเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัยในเขตลุ่มแม่น้ำยม เมืองสรลวงสองแควในเขตลุ่มแม่น้ำน่าน โดยไม่กล่าวถึงเมืองนครชุมและกำแพงเพชรในเขตลุ่มน้ำปิง แต่อย่างไรก็ดียังคงพบร่องรอยของเมืองโบราณที่ปรากฏคูน้ำคันดินบนสองฝั่งแม่น้ำปิง ที่น่าจะก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนต้น ได้แก่ เมืองไตรตรึงษ์ เมืองคณฑีและเมืองเทพนคร

การสถาปนาศูนย์กลางการปกครองพื้นที่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำปิงในสมัยสุโขทัยเกิดขึ้นในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท เมืองนครชุมบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ริมคลองสวนหมากน่าจะเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญมาก่อน ศิลาจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) กล่าวว่าเมื่อพุทธศักราช 1900 พระมหาธรรมราชาลิไทได้เสด็จมาสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุและปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ซึ่งได้มาจากลังกาทวีปไว้ที่กลางเมืองนครชุม นอกจากนี้ยังทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่เขานางทอง เมืองบางพาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอพรานกระต่าย แต่เมื่อพิจารณาจากหลักฐานต่าง ๆ ทั้งในศิลาจารึกและโบราณสถานจะพบว่า บทบาทของเมืองนครชุมในฐานะเมืองศูนย์กลางบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงดำรงอยู่ในระยะเวลาค่อนข้างสั้น ด้วยปรากฏว่าภายหลังรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ศูนย์กลางการเมืองการปกครองตลอดจนความเจริญรุ่งเรืองทางศาสนาและศิลปกรรมได้ย้ายมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงที่เมืองกำแพงเพชร

หลังจากพระมหาธรรมราชาลิไทสวรรคต (พุทธศักราช 1913-1914) เมืองต่างๆ ในแคว้นสุโขทัยแตกแยก หัวเมืองบางเมืองได้เข้าเป็นพันธมิตรกับกรุงศรีอยุธยา โดยบางเมืองยังคงอยู่กับแคว้นสุโขทัยดังเดิมในขณะเดียวกันสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพขยายอำนาจขึ้นมาปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ หลายเมืองในดินแดนแคว้นสุโขทัย ดังที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเมืองกำแพงเพชรได้มีบทบาทในฐานนะศูนย์กลางของพื้นที่ลุ่มน้ำปิง นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าการจัดตั้งเมืองกำแพงเพชรขึ้นมานั้นเป็นอำนาจของกรุงศรีอยุธยาเพื่อดึงอำนาจการปกครองในท้องที่จากเมืองนครชุมที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นหัวเมืองที่แนบแน่นกับสุโขทัยโดยเจ้าเมืองกำแพงเพชรน่าจะมีเชื้อสายร่วมกันระหว่างราชวงศ์สุโขทัยกับราชวงศ์สุพรรณภูมิ เรื่องราวตามที่ปรากฏในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์และหนังสือตำนานพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นตำนานของล้านนาได้กล่าวถึงเจ้าเมืองกำแพงเพชรชื่อติปัญญาอำมาตย์หรือพระยาญาณดิศ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากกรุงศรีอยุธยามาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร โดยอาศัยความสัมพันธ์ในฐานะมารดาของพระยาญาณดิศซึ่งเป็นชายาองค์หนึ่งของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว)

ชื่อเมืองกำแพงเพชรปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 38 หรือจารึกกฎหมายลักษณะโจร กล่าวพระนามจักรพรรดิราชได้ขึ้นเสวยราชสมบัติที่เมืองกำแพงเพชรเมื่อพุทธศักราช 1940

ศิลาจารึกหลักที่ 46 (จารึกวัดตาเถรขึงหนัง) ได้กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาโอรสองค์หนึ่งของพระมหาธรรมราชาลิไทและสมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดาได้นิมนต์พระเถระผู้ใหญ่จากเมืองกำแพงเพชร (พชรบุรีศรีกำแพงเพชร) เพื่อมาอำนวยการสร้างวัดศรีพิจิตรกีรติกัลยารามที่เมืองสุโขทัยในปีพุทธศักราช 1947 โดยในตอนต้นของจารึกหลักนี้ได้กล่าวถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระมหาธรรมราชา หากแต่การนิมนต์พระเถระผู้ใหญ่จากเมืองกำแพงเพชรย่อมชี้ให้เห็นว่าสุโขทัยยอมรับบทบาทของเมืองกำแพงเพชรในฐานะเมืองศูนย์กลางด้านการศาสนาและศิลปกรรม

ในช่วงปลายสมัยสุโขทัย หลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกลานเงิน โดยขุดพบที่พระเจดีย์เก่าทางด้านหน้าวัดพระยืนเขตอรัญญิก (วัดพระสี่อิริยาบถ) นอกเมืองกำแพงเพชรด้านทิศเหนือ ได้กล่าวถึงเจ้าเมืองกำแพงเพชรชื่อเสด็จพ่อพระยาสอยขึ้นครองเมืองกำแพงเพชร เมื่อพุทธศักราช 1963 ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาบรมปาลแห่งเมืองสองแคว เสด็จพ่อพระยาสอยผู้นี้น่าจะตรงกับชื่อพญาแสนสอยดาวเจ้าเมืองกำแพงเพชรในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ

เมืองกำแพงเพชรสมัยอยุธยา

จารึกรอบฐานพระอิศวรสำริดในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชรได้กล่าวไว้ว่าเจ้าพระยา ศรีธรรมาโศกราชได้ประดิษฐาน (อาจจะหมายถึงหล่อ) พระอิศวรในเมืองกำแพงเพชรเมื่อพุทธศักราช 2053 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ศิลาจารึกยังได้กล่าวถึงการซ่อมแซมวัดวาอาราม ทั้งในเมืองและนอกเมือง ตลอดจนได้บูรณะปรับปรุงถนนและระบบการชลประทาน คลองส่งน้ำที่นำน้ำจากเมืองกำแพงเพชรไปยังเมืองบางพาน เขตอำเภอพรานกระต่าย การทำนุบำรุงสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในเมืองกำแพงเพชรครั้งนี้ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทั้งสองพระองค์ คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ก่อนได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช

เมื่อดินแดนในเขตสุโขทัยได้อยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองการปกครองของกรุงศรีอยุธยาในกลางพุทธศตวรรษที่ 20 เมืองกำแพงเพชรได้มีฐานะเป็นหัวเมืองหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาในกลุ่มของเมืองเหนือทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่านในการป้องกันข้าศึกจากทางเหนือ ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโดยทางกรุงศรีอยุธยาได้จัดการปกครองให้เมืองกำแพงเพชรอยู่ในฐานะเมืองพระยามหานคร เช่นเดียวกับเมืองพิษณุโลก ศรีสัชนาลัยและสุโขทัย

ในการศึกสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเชียงใหม่ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองกำแพงเพชรมีบทบาทสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่านทางทิศเหนือตามเส้นทางแม่น้ำปิงของกรุงศรีอยุธยา พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ได้กล่าวไว้ว่า ในปีพุทธศักราช 2004 พระยาเชลียงนำทัพพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่จะเอาเมืองพิษณุโลกเข้าปล้นเมืองเป็นสามารถมิได้เมืองจึงยกทัพไปเอาเมืองกำแพงเพชรและเข้าปล้นเมืองถึงเจ็ดวันมิได้เมือง กองทัพเชียงใหม่จึงยกทัพกลับ

ประวัติความเป็นมาของงานโบราณคดีและการอนุรักษ์เมืองกำแพงเพชร

ก่อนปีพุทธศักราช 2478 กรมศิลปากร ได้แจ้งไปยังศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการอำเภอต่าง ๆ  ทั่วประเทศ ให้ช่วยสำรวจหาแหล่งโบราณสถานโบราณวัตถุที่มีคุณค่าของจังหวัดนั้น ๆ และให้ส่งข้อมูลกลับมายังกรมศิลปากรเพื่อดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุของชาติ

พุทธศักราช 2478 กรมศิลปากรดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศเรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2478 โบราณสถานในจังหวัดกำแพงเพชรได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในครั้งนั้นจำนวน 8 แห่ง คือ วัดอาวาสน้อย วัดอาวาสใหญ่ วัดตึกพราหมณ์ วัดช้างรอบ วัดสิงห์ วัดสี่อิริยาบถ อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร พระเจดีย์(เขานางทอง)และถ้ำนางทอง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร โดยการประกาศขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ไม่ได้ประกาศขอบเขตของโบราณสถานที่แน่ชัด

พุทธศักราช 2480 กรมศิลปากรดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศเรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 ตอนที่ - วันที่ 3 มกราคม พุทธศักราช 2480 โบราณสถานในจังหวัดกำแพงเพชรได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในครั้งนั้น จำนวน 1 แห่ง คือ กำแพงเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร ตำบลในเมือง

พุทธศักราช 2496 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงบูรณะโบราณสถานเมืองสุโขทัย โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(พลโทสวัสดิ์ สรยุทธ์) เป็นประธานกรรมการ มีผู้แทนจากกระทรวงฯ และอธิบดีจากกรมต่าง ๆ และผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านเป็นกรรมการ และในขณะเดียวกันได้มีการศึกษาโบราณสถานบริเวณเมืองใกล้เคียง ด้วย คือ เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร โดยใน พุทธศักราช 2496 ให้ดำเนินการถากถางต้นไม้ขนาดเล็กบริเวณโบราณสถานวัดพระแก้วและวัดพระธาตุ

พุทธศักราช 2508 – 2512 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงบูรณะโบราณสถานจังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน เพื่อดำเนินงานในส่วนของจังหวัดกำแพงเพชร ได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานระหว่างปี พุทธศักราช 2508 – 2512 จำนวน 18 แห่ง ได้แก่ ศาลพระอิศวร วัดพระธาตุ วัดพระแก้ว เขตวังหรือสระมน ป้อมเพชร ป้อมเจ้าจันทร์ ป้อมเจ้าอินทร์ ป้อมมุมเมืองตะวันตกเฉียงใต้ ป้อมประตูวัดช้าง ป้อมทุ่งเศรษฐี วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดช้างรอบ วัดอาวาสใหญ่ วัดกะโลทัย วัดซุ้มกอ วัดช้าง และวัดอาวาสน้อย หลังจากนั้นได้ดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอดตามงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี

พุทธศักราช 2511 กรมศิลปากรได้สำรวจโบราณสถานบริเวณเมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองนครชุม และได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2511 โดยมีเนื้อที่โบราณสถานทั้งหมด 2,391 ไร่ จัดแบ่งกลุ่มโบราณสถานออกเป็น 10 บริเวณ ดังนี้

บริเวณที่ 1 โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือหรือเขตอรัญญิก เนื้อที่ 1,611 ไร่

บริเวณที่ 2 โบราณสถานเขตอรัญญิกบริเวณวัดอาวาสน้อย เนื้อที่ 220 ไร่

บริเวณที่ 3 กลุ่มโบราณสถานภายในเขตกำแพงเมือง เนื้อที่ 503 ไร่

บริเวณที่ 4 โบราณสถานฝั่งนครชุมบริเวณวัดเจดีย์กลางทุ่ง เนื้อที่ 12 ไร่ 2 งาน

บริเวณที่ 5 โบราณสถานฝั่งนครชุมบริเวณวัดหนองลังกา เนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน

บริเวณที่ 6 โบราณสถานฝั่งนครชุมบริเวณวัดหนองพิกุล เนื้อที่ 7 ไร่

บริเวณที่ 7 โบราณสถานฝั่งนครชุมบริเวณวัดซุ้มกอ เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน

บริเวณที่ 8 โบราณสถานนอกกำแพงเมืองกำแพงเพชรด้านทิศตะวันออกบริเวณวัดกะโลทัย  เนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน

บริเวณที่ 9 โบราณสถานนอกกำแพงเมืองกำแพงเพชรด้านทิศตะวันออกบริเวณวัดตะแบกลายเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน

บริเวณที่ 10 โบราณสถานนอกกำแพงเมืองกำแพงเพชรด้านทิศเหนือบริเวณวัดดงหวายและวัดช้าง เนื้อที่ 14 ไร่

พุทธศักราช 2523 – 2524 กรมศิลปากรเริ่มทำการสำรวจโบราณสถานบริเวณเมืองกำแพงเพชร เพื่อเตรียมการจัดทำแผนการอนุรักษ์และสำรวจศึกษาพื้นที่เพื่อวางแผนกำหนดแนวทางการพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์

พุทธศักราช 2525 กองโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำแผนแม่บทโครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร (พุทธศักราช 2525 - พุทธศักราช 2529) และรัฐบาลได้บรรจุแผนงานอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พุทธศักราช 2525 - 2529) โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร” ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่โบราณสถาน 2 เขต คือ เขตกำแพงเมือง และเขตอรัญญิก โครงการนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พุทธศักราช 2530 - 2534) โดยเน้นการบูรณะปรับปรุงโบราณสถาน และก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการในเขตโบราณสถานภายในกำแพงเมือง และบริเวณอรัญญิกเป็นสำคัญ

การเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

ในปีพุทธศักราช 2534 รัฐบาลและประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ระหว่างปีพุทธศักราช 2525 - 2534 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย 2 เมษายน พุทธศักราช 2534 และเพื่อธำรงรักษามรดกวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ยั่งยืน เป็นหลักฐานแสดงอารยธรรมของประเทศสืบไป

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 18 เมษายน พุทธศักราช 2534

มรดกโลกกำแพงเพชร

ประเทศไทยมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกโลกของยูเนสโก จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งทั้งสามแห่งมีความสำคัญมากในการเป็นมรดกทางวัฒนธรรม สำหรับเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) ประกอบไปด้วยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ทั้ง 3 เมืองมีความรุ่งเรืองในอดีตช่วงใกล้เคียงกัน โดยอาณาจักรสุโขทัยนั้นถือเป็นศูนย์กลางความเจริญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติที่สะท้อนความงดงามอันทรงคุณค่า เช่น รูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นอย่างเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ หรือดอกบัวตูม มีพระพุทธรูปที่มีรูปแบบทางศิลปกรรมที่งดงาม เป็นต้นกำเนิดของอักษรไทย และมีไตรภูมิพระร่วง วรรณกรรมที่สำคัญทางพุทธศาสนา อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการน้ำ มีการสร้างระบบชลประทานเพื่อนำน้ำมาใช้อุปโภค บริโภคภายในเมือง ซึ่งยังคงใช้งานได้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความชาญฉลาดของคนในอดีตที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน

เกณฑ์มาตรฐาน (Criteria) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 15 เมื่อปี พุทธศักราช 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย โดยมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์มรดกโลกด้านวัฒนธรรม จำนวน 2 ข้อ ดังนี้

- เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์

- เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน หรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว