ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโบราณสถานศิลปะแบบเขมรในประเทศไทยที่มีความงดงามและมีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เขาพนมรุ้งและปราสาทบนยอดเขาจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ และยังเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลอีกด้วย กลุ่มอาคารบนยอดเขามีการก่อสร้างหลายยุคสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 - 18

 ชื่อ “พนมรุ้ง” มาจากภาษาเขมรว่า “วนํรุง” แปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่ โดยคำนี้ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกอักษรขอมพบที่ปราสาทพนมรุ้ง


002
  003


และยังปรากฏชื่อผู้สร้างปราสาท คือ “นเรนทราทิตย์” เชื้อสายราชวงศ์มหิธรปุระผู้เกี่ยวข้องเป็นพระญาติกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด   
     กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์ปราสาทพนมรุ้งโดยประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทพนมรุ้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2478 และได้ดำเนินการบูรณะปราสาทระหว่าง พุทธศักราช 2514 - 2531 ต่อมาได้ประกาศขอบเขตโบราณสถาน เนื้อที่ 451 ไร่ 11 ตารางวา ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 93 ตอนที่ 141 วันที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2519 และกรมศิลปากรได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ขึ้นและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พุทธศักราช 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด