ประวัติที่มาและความสำคัญ

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

ปราสาทพนมรุ้ง เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างขึ้นโดยมีรูปแบบศิลปะเขมรโบราณที่มีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ความงดงามและความยิ่งใหญ่ของปราสาทแห่งนี้ ปรากฏให้เห็นจากรูปแบบของงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ภาพสลัก การเลือกทำเลที่ตั้งบนยอดเขาซึ่งมีแผนผังตามแนวแกนที่มีองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างต่างๆ เรียงตัวกันเป็นแนวเส้นตรงพุ่งเข้าหาจุดศูนย์กลาง คือ ปราสาทประธาน

ปราสาทพนมรุ้งเป็นที่รู้จักของชาวท้องถิ่นเป็นอย่างดี โดยมีนิทานพื้นบ้านเรื่อง “อินทรปรัสถา” กล่าวถึงคู่พระคู่นางซัดเซพเนจรมาพบที่พักพิงซึ่งเป็นปราสาทหินรกร้างงดงามอยู่กลางป่าเขา แต่สำหรับบุคคลภายนอก ปราสาทแห่งนี้เป็นที่รู้จักครั้งแรกจากบันทึกของนายเอเตียน เอมอนิเยร์ (Etienne Aymonier) ชาวฝรั่งเศส ในปีพุทธศักราช 2428 ตีพิมพ์เป็นบทความในปี พุทธศักราช 2445

ปีพุทธศักราช 2449 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาที่ปราสาทพนมรุ้ง คราวเสด็จมณฑลอีสาน และเสด็จอีกครั้งในปี พุทธศักราช 2472 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2478

และปีพุทธศักราช 2503 – 2504 ได้ดำเนินการสำรวจปราสาทพนมรุ้งอีกครั้ง ต่อมาในปี พุทธศักราช 2514 ได้เริ่มดำเนินการบูรณะปราสาทพนมรุ้ง ด้วยวิธี “อนัสติโลซิส” (Anastylosis คือการนำชิ้นส่วนของปราสาทกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม) และเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน

ชื่อของปราสาทพนมรุ้ง เป็นชื่อดั้งเดิมของโบราณสถานแห่งนี้ คำว่า พนมรุ้ง ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกพนมรุ้ง หลักที่ 2 หลักที่ 4 และ K.1090 จารึกว่า พนมรุ้งเป็นชื่อเทวสถานที่มีขอบเขตกว้างขวาง มีที่ดิน หมู่บ้าน เมือง ซึ่งมีผู้ปกครองหรือข้าราชการได้จัดหามาถวายในลักษณะเป็นกัลปนาของเทวสถาน

จากหลักฐานทางด้านศิลาจารึกและงานศิลปกรรมที่ปรากฏ กล่าวได้ว่า ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย นิกายปศุปตะ โดยนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด ศิลาจารึกพนมรุ้งหลักที่ 7 และหลักที่ 9 มีเนื้อความเริ่มต้นเป็นบทสรรเสริญพระศิวะ ศิลาจารึกบางหลักกล่าวถึงการสร้างศิวลึงค์ สร้างรูปทองคำของพระศิวะในท่าฟ้อนรำ สร้างรูปทองคำของพระวิษณุขึ้นในเรือนของพระศิวะ

ปราสาทแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยที่ประทับของพระศิวะ พระองค์มีที่ประทับอยู่บนเขาไกรลาส ดังนั้นการสร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นบนยอดเขา จึงเป็นการสะท้อนถึงการจำลองที่ประทับของพระศิวะมาไว้บนโลกมนุษย์

อาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของปราสาทพนมรุ้ง ไม่ได้สร้างขึ้นมาพร้อมกันทั้งหมดในคราวเดียวกัน ในช่วงแรกได้มีการสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อการนับถือศาสนาของชุมชนขึ้นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ได้แก่ ปราสาทอิฐ 2 หลัง ที่ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายเหลือเพียงฐานและกรอบประตู หลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับ โดยอาณาจักรเขมรโบราณ หรือผู้นำที่ปกครองชุมชน อันมีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง

ปราสาทพนมรุ้ง คงมีความสำคัญสืบเนื่องมาจนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พุทธศักราช 1511 - 1544) พระองค์ทรงนับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เช่นเดียวกับพระราชบิดา (พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2) นอกจากจะมีพระราชโองการให้สร้างจารึกเพื่อสรรเสริญเกียรติคุณของพระราชบิดาแล้ว ยังทรงถวายที่ดินให้กับเทวสถานด้วย ในสมัยนี้เองเทวสถานบนเขาพนมรุ้งเป็นศูนย์กลางของชุมชนโดยรอบอย่างแท้จริง จากข้อความในจารึกที่พบที่ปราสาทพนมรุ้งแสดงให้เห็นว่าเทวสถานบนเขาพนมรุ้ง เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ คือ ศิวลึงค์ มีอาณาเขตกว้างขวาง มีที่ดินซึ่งพระเจ้าแผ่นดิน (พระเจ้าชัยวรมันที่ 5) และข้าราชการระดับต่าง ๆ ถวายหรือซื้อถวายให้กับเทวสถาน พร้อมกับมีพระราชโองการให้ปักหลักเขตที่ดินขึ้นกับเทวสถานเขาพนมรุ้ง พร้อมกับการสร้างเมือง สร้างอาศรมให้กับโยคี และนักพรตด้วย

ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ได้มีการก่อสร้างปราสาทประธานขึ้น จากการศึกษาศิลาจารึกพนมรุ้งหลักที่ 7 และหลักที่ 9 กล่าวว่าปราสาทประธานสร้างขึ้นในสมัย “นเรนทราทิตย์” ท่านเป็นโอรสของพระนางภูปตีนทรลักษมี เป็นผู้มีสติปัญญาหลักแหลม มีความสามารถในการรบ ได้เข้าร่วมกับกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในการรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นจากศึกสงคราม นเรนทราทิตย์คงได้รับความดีความชอบเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองเมือง ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์มหิธรปุระ ทรงได้ดำเนินการสร้างปราสาทหลังใหญ่ขึ้นประดิษฐานรูปเคารพ สร้างงานศิลปกรรมปรากฎเป็นงานสลักตามส่วนต่างๆ ที่ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า มีความประสงค์ที่จะสร้างเทวสถานแห่งนี้เป็นเทวาลัยของพระศิวะ มีศิวลึงค์เป็นองค์ประธานและยังมีการนับถือเทพองค์อื่น ๆ แต่อยู่ในสถานะเทพชั้นรอง นอกจากนี้ข้อความที่ปรากฏขึ้นในจารึกยังแสดงให้เห็นว่า นเรนทราทิตย์ ได้สร้างปราสาทแห่งนี้เพื่อประดิษฐานรูปเคารพของตนเอง เพื่อเตรียมไว้สำหรับการเข้าไปร่วมกับเทพที่ทรงนับถือหลังจากสิ้นพระชนม์ ความเลื่อมใสศรัทธาอันแรงกล้าต่อศาสนา ทำให้ท่านออกบรรพชาถือองค์เป็นนักพรตจวบจนวาระสุดท้าย ข้อความที่ปรากฏในจารึกพนมรุ้ง ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ท่านคงเป็นนักพรตในลัทธิไศวนิกาย ตามแบบนิกายปศุปตะที่มีการนับถือกันมาแล้วแต่เดิม โอรสของนเรนทราทิตย์ คือ หิรัณยะ เป็นผู้ให้จารึกเรื่องราวเพื่อสรรเสริญเกียรติคุณของพระบิดา และได้ให้ช่างหล่อรูปของนเรนทราทิตย์ด้วยทองคำ

สิ่งก่อสร้างสมัยสุดท้าย คือ บรรณาลัย และพลับพลา ซึ่งมีการก่อสร้างเพิ่มเติมซ่อมแซมขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724 - 1763) มหาราชองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรเขมร พระองค์ทรงนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ทรงโปรดให้สร้างอโรคยศาล จำนวน 102 แห่ง และที่พักคนเดินทาง หรือธรรมศาลา จำนวน ๑๒๑ แห่ง ขึ้นในดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ ตามข้อความที่ปรากฏในจารึกปราสาทตาพรหม และจารึกปราสาทพระขรรค์ตามลำดับ โบราณสถานดังกล่าวนี้ ที่อยู่ใกล้เคียงปราสาทพนมรุ้ง ได้แก่ กุฏิฤๅษีโคกเมือง และกุฏิฤๅษีหนองบัวราย ซึ่งเป็นอโรคยศาล และปราสาทบ้านบุ เป็นที่พักคนเดินทางหรือธรรมศาลา


p 12