ประวัติที่มาและความสำคัญ

01 10     

พระนครคีรีหรือเขาวัง เดิมเป็นพระราชวังในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี บนยอดเขา 3 ยอดติดต่อกัน ยอดสูงที่สุดสูง 95 เมตร ภูเขานี้เดิมนั้นเรียกว่า เขาสมน (สะ-หมน) บริเวณไหล่เขาทางด้านทิศตะวันออก มีวัดหนึ่งชื่อ วัดสมณ (สะ-มะ-นะ) ในหมายรับสั่งรัชกาลที่ 4 (พุทธศักราช 2402) ปรากฏชื่อว่า เขามหาสมณ พุทธศักราช 2404 พระองค์ได้พระราชทานนามว่าเขามหาสวรรค์ ต่อมาเปลี่ยนเป็น เขามไหสวรรย์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพระราชวังบนเขามไหสวรรย์ ในพุทธศักราช 2402 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ฯ ) เป็นแม่กองในการก่อสร้าง และพระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ ( ท้วม บุนนาค ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาภาณุวงศมหาโกษาธิบดีฯ ) เป็นนายงานก่อสร้าง เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามว่า พระนครคีรี


จากหนังสือ “โคลงลิขิตมหามกุฎราชคุณานุสรณ์” พระนิพนธ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กล่าวถึงการก่อสร้างพระนครคีรีไว้ ความตอนหนึ่งว่า

 

บรมกษัตริย์ตรัสสั่งเจ้า        พระยาทหาร เอกเอย
ศรีสุริยวงศ์แม่กอง            โก่นสร้าง
เพชรพิสัยอนุชนายงาน            นวะกิจ    เกรียงแฮ
พระปลัดเคยเมื้อด้าว            บริเตียน ฯ
นิมิตรมณเฑียรขึ้นยอด        สิงขร
เมืองเพชรบุรีนาม            ก่อนอ้าง
เขามหาสมณะนคร            คิรีราชะทานแฮ
สามยอดยามเยื้องสร้าง            ต่างกัน ฯ

พระนครคีรีแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน คือพื้นที่เขตพุทธสถานและพระราชวังที่ประทับ โดยใช้แนวยอดเขาเป็นเส้นแบ่ง คือ เขตพุทธสถาน คือบริเวณยอดเขาตะวันออก และยอดกลาง ส่วนบริเวณยอดเขาตะวันตก เป็นเขตพระราชวังที่ประทับและอาคารประกอบ ซึ่งเป็นส่วนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระที่นั่งที่ประทับ พระตำหนักและอาคารประกอบต่าง ๆ และได้พระราชทานนามไว้คล้องจองกันทั้งหมด เมื่อแล้วเสร็จจึงพระราชทานนามว่า “พระนครคีรี”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “ความทรงจำ” ความตอนหนึ่งว่า “...พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริเห็นว่า ถึงคราวโลกยวิสัยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยฝรั่งมามีอำนาจขึ้นทางตะวันออกนี้ และประเทศไทยอาจจะมีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งขึ้นในวันข้างหน้า จึงทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษ...วิชาความรู้ต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาจากตำราภาษาอังกฤษจะมีอย่างไรบ้าง ข้อนี้มีหลักฐานปรากฏ ว่าได้ทรงศึกษาวิชาคณนาวิธีอย่างหนึ่ง....ถึงตอนพระชันษาระหว่าง 40 กับ 47 ทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษ กับทั้งวิชาความรู้ต่าง ๆ ของฝรั่ง...”

จากการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาวิชาความรู้ต่าง ๆ ของฝรั่งนี้ จึงทรงนำแบบอย่างของสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกมาก่อสร้างพระราชวัง และพระที่นั่งต่าง ๆ ในรัชสมัยของพระองค์ เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคมในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศ ในพระบรมมหาราชวัง รวมถึงพระนครคีรีแห่งนี้

การก่อสร้างพระนครคีรี ได้นำสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคมาเป็นแบบ แต่ฝีมือช่างนั้นยังมีอิทธิพลของงานสถาปัตยกรรมจีนผสมอยู่ด้วย เช่น การปั้นสันหลังคา และการใช้กระเบื้องกาบกล้วย เป็นต้น

การเดินทางบนพระนครคีรี

ทางขึ้นพระนครคีรีนั้น เป็นถนนปูด้วยอิฐจนถึงโรงโขนไม่ได้ทำเป็นขั้นบันได ทั้งนี้เพื่อให้รถและม้าขึ้นลงได้สะดวกจนถึงหน้าพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ในอดีตการเดินทางของขบวนเสด็จพระราชดำเนินนั้น มักเสด็จโดยเรือพระที่นั่ง มีทั้งเรือกลไฟ และเรือจักรข้างพระที่นั่ง จากนั้นเสด็จด้วยขบวนเรือเล็กเข้าเมืองเพชรบุรีที่ปากน้ำตำบลบ้านแหลม ก่อนจะเสด็จขึ้นทรงม้าจากบ้านแหลมมายังพระนครคีรี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเล่าถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ไว้ใน พระนิพนธ์เรื่อง “เจ้าชีวิต” ว่า

“บนเขาใกล้เมืองเพชรบุรี ทรงสร้างพระราชวังแบบยุโรปอย่างงดงาม ดูจากยอดเขานี้จะแลเห็นทะเลได้ การเดินทางนั้นส่วนมากทรงม้าและทรงอยู่ได้วันหนึ่งๆ หลายชั่วโมง…”
และ
“...รัชกาลที่ 4 ทรงมีรถม้าแบบฝรั่งซึ่งมีสองล้อและเทียมม้าสองตัวและทรงขับเองบ่อยๆ พระองค์ทรงเป็นเสมือนประหนึ่งสะพานระหว่างแบบใหม่กับแบบเก่า คือ ยังโปรดประทับพระราชยานที่เรียกกันว่า เสลี่ยงมีคานหามแล้ว พระราชโอรส – ธิดาเล็ก ๆ ที่โปรดมากก็ประทับพระราชยานไปด้วย...”

นอกจากม้าและรถแล้ว ในบางคราวที่เสด็จโดยพระเสลี่ยงคานหาม โปรดให้ใช้พวกโซ่งหรือไทยทรงดำเป็นเจ้าหน้าที่ พวกนี้มีหัวหน้าที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในกรมมหาดเล็ก ได้รับเบี้ยหวัดเงินปี มีลูกหมู่ขึ้นทะเบียนเป็นเลขสม และแต่งตั้งเป็นเด็กชา ได้รับพระราชทานเครื่องแบบ ได้รับการยกเว้นการเก็บค่ารัชชูปการตลอดมาจนถึงเลิกเก็บเงินรัชชูปการเมื่อ พุทธศักราช 2481 เครื่องแบบของพนักงานเหล่านี้ คือ นุ่งกางเกงดำขายาว สวมเสื้อคอตั้งดำยาวถึงหน้าขา มีกระดุมทำด้วยเงินเป็นแถวกว่าสิบเม็ด คาดผ้าขาวม้าไส้ปลาไหลสลับขาว เวลาที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่พระนครคีรีไม่ว่ารัชกาลใด ๆ ต้องมารับใช้เข้าเวรเป็นประจำ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สะพานยี่หน ตำบลไร่ดอน อำเภอเมืองเพชรบุรี ซึ่งปัจจุบัน คือ บ้านไร่ดอน ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมืองเพชรบุรี

พระนครคีรี นับเป็นสิ่งก่อสร้างและกลุ่มอาคารทางประวัติศาสตร์อันควรแก่การอนุรักษ์ให้มีความมั่นคงแข็งแรงสวยงามไว้สืบไป เพราะนอกจากจะเป็นพระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่ง ปราสาทราชมณเฑียร ป้อมปราการ และอารามตามลักษณะพระราชวังหลวงแล้ว ยังเป็นพระราชวังแห่งแรกที่สร้างบนภูเขา ซึ่งมียอดเขาติดต่อกันถึง 3 ยอดมีเนื้อที่รวมแล้วประมาณ 188 ไร่ (ตามระวางแนวเขต ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ครั้งที่ 2 เล่มที่ 109 ตอนที่ 94 วันที่ 28 กรกฎาคม (พ.ศ. 2535) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ พระนครคีรีรุ่งเรืองมากพระองค์โปรดเสด็จมาประทับปีละหลายคราว เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าเมืองเพชรบุรีพร้อมด้วยกรมการเมืองได้ช่วยกันประดับตกแต่งพระนครคีรีเป็นประจำทุกปี โดยประดับธงทิว จัดโต๊ะหมู่บูชา ตอนเย็นได้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมงคลคาถา ณ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ และพระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ เวลากลางคืนมีการตามประทีบโคมไฟตามเสา และต่อสายแขวนโคมไว้สว่างไสวสวยงาม จุดคบเพลิงไว้รอบพระนครคีรี มีการจุดพลุและดอกไม้เพลิง มีการละเล่นต่างๆ ส่วนตามวัดวาอารามและบ้านเรือนราษฎรในตลาดมีการจุดประทีปโคมไฟสวยงามเป็นเวลา 3 วัน เป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ในปี พุทธศักราช 2403 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิธีนี้ก็มิได้มีการจัดขึ้นต่อ

ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็โปรดเสด็จมาประทับเป็นครั้งคราวและทรงใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะสำคัญ ๆ หลายคราว กล่าวได้ว่าในสมัยนั้นจังหวัดเพชรบุรีและพระนครคีรีเป็นสถานที่พักผ่อนท่องเที่ยวที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ จนเมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 11 ปีมะแม พุทธศักราช 2426 ได้เกิดฟ้าผ่าลงมาตรงยอดกลางของพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ทำให้พระที่นั่งได้รับความเสียหาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระยาสุรินทรฦๅไชยให้ช่างไทยและช่างจีนทำการซ่อมแซมจนเสร็จเรียบร้อย และให้ทำการบูรณะพระนครคีรีทั่วทั้งบริเวณ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์จะใช้เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานพักผ่อนพระอิริยาบถ และเพื่อทรงใช้รับรองแขกเมือง และปลายพุทธศักราช 2452 โปรดให้บูรณะอาคารยอดเขาตะวันตก รวมถึงตกแต่งและดัดแปลงพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ สำหรับเป็นที่ประทับพระราชอาคันตุกะ ที่มาเยือนพระนครคีรี ในต้นพุทธศักราช 2453

จากนั้นเป็นเวลากว่า 43 ปี ไม่พบหลักฐานว่ามีการบูรณะพระนครคีรีอีกเลย จนกระทั่งพุทธศักราช 2496 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระนครคีรี ทรงเห็นความชำรุดทรุดโทรมของพระที่นั่งและอาคารสถานที่ต่าง ๆ จึงมีพระราชปรารภให้บูรณปฏิสังขรณ์ให้คงสภาพไว้ ทั้งนี้กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจ และประกาศขึ้นทะเบียนพระนครคีรีเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 78 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 โดยกำหนดเป็นเขตโบราณสถานไว้ทั้งภูเขารวมสามยอด และกันเขตบริเวณโดยรอบพระนครคีรีนี้ออกไปจากตีนเขาอีก 20 เมตร ต่อมาพุทธศักราช ๒๕๒๔ กรมศิลปากรได้จัดทำโครงการเสนอเข้าแผนทำนุบำรุงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 มีชื่อว่า โครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี โดยการดำเนินงานตามแผนนี้ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๕ แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามแผนในพุทธศักราช 2530 โดยใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 30 ล้านบาท

จากประวัติอันยาวนานและคุณค่าทางวิชาการหลายด้านของพระนครคีรี อันควรค่าแก่การศึกษาที่ปรากฏให้เห็นแม้ในปัจจุบัน คือ พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและความสามารถของคณะช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง นับตั้งแต่การวางผังบริเวณ จัดเตรียมพื้นที่ตั้งของกลุ่มอาคาร แยกตามประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่และหมู่อาคารต่าง ๆ ให้สอดรับกัน เช่น แยกเขตพุทธาวาส เขตพระราชฐานชั้นใน พระราชฐานชั้นนอก ศาลาด่าน ตลอดจนป้อมปราการต่าง ๆ โดยการใช้ภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นยอดเขาแยกพื้นที่ใช้สอยออกจากกัน จากนั้นใช้ทางเดินที่คดเคี้ยวตามไหล่เขาและความลาดเอียงของภูมิประเทศเชื่อมประสานบริเวณให้ต่อเนื่องกันไป

รูปทรงของอาคารบนพระนครคีรีล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะ แสดงการใช้ประโยชน์ของตัวอาคารที่มีความแตกต่างกัน เช่น หอชัชวาลเวียงชัย (กระโจมไฟ) มีรูปแบบเป็นอาคารทรงกลมโล่งโปร่งตั้งแต่หลังคาโดมโค้งซึ่งเป็นกระจกใส และระเบียงโดยรอบลงมาจรดพื้น เหมาะต่อการเป็นประภาคารสังเกตการณ์และชมภูมิประเทศโดยรอบ หอพิมานเพชรมเหศวร์ ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารขนาดเล็ก 3 หลัง ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่สงบเหมาะแก่การถือศีลบำเพ็ญภาวนา พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่ประทับนั้น เป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ก็ความงามสง่า อาคารใช้สอยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ทิมดาบองครักษ์สำหรับรักษาความปลอดภัย ราชวัลลภาคาร ศาลาด่าน ศาลาลูกขุน พระวิหารน้อย ฯลฯ ล้วนออกแบบไว้เหมาะสมแก่ประโยชน์สำหรับพระราชวังในชนบททั้งสิ้น

ถึงแม้ว่าอาคารส่วนใหญ่บนพระนครคีรี จะมีรูปแบบที่ต่างไปจากอาคารแบบไทยเดิมที่นิยมสร้างมาแต่ก่อน ทว่าช่างก็สามารถนำเอาลักษณะอาคารและศิลปะการก่อสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้รวมกัน จนกลายเป็นรูปแบบที่กลมกลืนสอดคล้อง เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมไทยอีกแบบ ที่เป็นตัวแทนแห่งยุคสมัย ควรแก่การยกย่อง เช่น การใช้กระเบื้องกาบกล้วยมุงหลังคาและปั้นปูนทับแนวอย่างหลังคาจีน มาผสมการทำประตูหน้าต่างโค้ง หรือการนำเอาโครงสร้างคานโค้งมาประกอบให้อาคารดูสวยงาม อย่างสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของตะวันตกมาใช้ และนำเอาลักษณะสถาปัตยกรรมไทย เช่น การกำหนดสัดส่วนของอาคารด้านสกัดให้มีความยาวและความกว้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าง่าย ๆ ตลอดจนการเลือกใช้วัสดุท้องถิ่นมาประกอบก่อสร้างอาคาร เช่น การใช้ปูนปั้นลวดลายตามแบบฝีมือช่างเมืองเพชร การใช้ปูนฉาบแบบโบราณ การใช้กระเบื้องดินเผา และการใช้เทคนิคก่อสร้างให้อาคารเกาะติดมั่นคงอยู่บนภูเขาซึ่งเป็นหินและสามารถปะทะแรงลมที่พัดจัด นับว่าเป็นความสามารถอันยิ่งยวดของช่างในยุคนั้น

จดหมายเหตุ การเสด็จพระราชดำเนินพระนครคีรีในสมัยรัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดอากาศและภูมิทัศน์ที่มีความสวยงามของเมืองเพชรบุรีมาก ในระหว่างทรงพระผนวชได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้ำเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรีและยังได้เสด็จประทับแรมที่วัดมหาสมณาราม วัดที่ตั้งอยู่เชิงเขาพระนครคีรี เมื่อเสด็จเสวยราชสมบัติแล้วจึงโปรดเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่เมืองเพชรบุรีอีกตลอดรัชกาล

วันที่ 19 ธันวาคม พุทธศักราช 2401 (เดือนอ้าย ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก จ.ศ. 1220) ปีที่ 8 แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเพชรบุรีทางชลมารค เพื่อทอดพระเนตรถ้ำเขาหลวง ประทับแรมบนพลับพลาเขาหลวง 1 คืน เป็นพลับพลาที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ มอบหมายให้พระยาราชบุรีนำชาวราชบุรีสร้างถวายบนเขาและเชิงเขาทิศตะวันออก การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ เป็นการเสด็จเพื่อทอดพระเนตร การบูรณะพระพุทธรูป 26 องค์ ตามที่ได้มีรับสั่งให้พระยาเพชรบุรี และกรมการ ว่าให้ดำเนินการทำบันไดลงถ้ำเขาหลวงให้เรียบร้อย และปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปที่ชำรุด เมื่อแล้วเสร็จจะออกมาทอดพระเนตร ต้องการรักทองเท่าใดให้บอกออกไป จะโปรดประทานมาให้ และบันไดนั้นจะก่ออิฐถือปูนหรือทำเป็นไม้ก็ได้ หากเป็นไม้ให้ทำราวบันไดทั้งสองข้างให้มั่นคง ต่อมาในเดือน 12 ปีมะเมีย จ.ศ. 1220 (พุทธศักราช 2401) พระยาเพชรบุรี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน รักเมืองไชยา 30 ทะนาน รักสมุก 200 ทะนาน และโปรดให้หมื่นสุวรรณนิมิต ปลัดกรมช่าง ออกมาช่วยเรื่องปิดทอง ด้วยทรงเป็นห่วงเรื่องความชื้นในถ้ำ จะเป็นเหตุให้ชำรุดไม่คงทน

วันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2401 (เดือนอ้าย ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก จ.ศ. 1220) เสด็จประพาสเขาสมน แล้วเสด็จไปประทับแรมที่พลับพลาค่ายหลวงบาทะลุ 1 คืน เป็นพลับพลาที่สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงค์ มอบหมายให้พระยาเพชรบุรีนำชาวเพชรบุรีสร้างถวาย

ภายหลังการเสด็จพระราชดำเนินเมืองเพชรบุรีในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีพระราชดำริในการสร้างพระนครคีรีขึ้น โดยปรากฏว่าได้โปรดเกล้าฯ ให้พระพรหมบริรักษ์ เจ้ากรมพระตำรวจออกไปทำแผนที่ร่วมกับพระยาเพชรบุรี (บัว) เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย

วันที่ 18 มีนาคม พุทธศักราช 2401 (วันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเมีย สัมฤทธิศก จ.ศ. 1220) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี ทอดพระเนตรการบูรณะพระพุทธรูปที่เขาหลวงและทอดพระเนตรการก่อสร้างพระตำหนักพลับพลาบนเขาสมน

วันที่ 7 กรกฎาคม พุทธศักราช 2402 (วันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม เอกศก จ.ศ. 1221) ก่อฤกษ์พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์

วันที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2402 ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 12 ปีมะแม เอกศก จ.ศ. 1221 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเพชรบุรี พร้อมด้วยพระองค์เจ้าฝ่ายในและเจ้าจอมมารดาตามเสด็จมากมาย ในการเสด็จครั้งนี้โปรดฯ ให้ราษฎรตั้งเครื่องบูชาหน้าบ้านเพื่อรับเสด็จได้ ถวายผ้าพระกฐินพระอารามต่าง ๆ กว่า 40 แห่ง (ต่อมาลดจำนวนพระอารามลง เพื่อให้ราษฎรได้ถวายบ้าง คงไว้แต่วัดมหาสมณารามและวัดคงคาราม) เมื่อถวายผ้าพระกฐินแล้วได้เสด็จไปปิดทองพระที่ถ้ำเขาหลวง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งข้างหน้าข้างใน ทั้งนี้เนื่องจากมีการปิดทองจำนวนมาก เกรงว่าจะมีโจรผู้ร้ายมาลักลอกทองเอาไป จึงมีรับสั่งให้เจ้าพนักงานชาวพระคลังมหาสมบัติจัดเงินเฟื้องออกมาให้พระยาเพชรบุรี จางลาวพวน ลาวทรงดำ ดูแลรักษา วันละ 1 เฟื้อง ตั้งแต่ ขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะแม เอกศก – เดือน 4 คือเป็นระยะเวลา 4 เดือน คิดเป็นเงิน 118 เฟื้อง เงินตรา 3 ตำลึง 2 บาท 3 สลึง

วันศุกร์ 28 ตุลาคม พุทธศักราช 2402 (ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 12 ปีมะแม เอกศก จ.ศ. 1221) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรการบูรณะถ้ำเขาหลวง และการก่อสร้างบนเขามหาสวรรค์ มีพระราชประสงค์ให้สร้างปราสาทศิลาแบบเขมรบริเวณยอดเขาทิศตะวันออก

วันที่ 10 พฤษภาคม พุทธศักราช 2403 ได้เสด็จมาเมืองเพชรบุรีเป็นครั้งที่สองในปีนี้ เพื่อทอดพระเนตรการก่อสร้างพระนครคีรี

วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2403 เสด็จพระราชดำเนินเมืองเพชรบุรีเป็นครั้งที่สาม เพื่อรับกระบวนแห่พระพุทธรูป พระครูฝ่ายธรรมยุติ 10 รูป และเทวรูปเทพารักษ์ ไปสถิตที่วัดมหาสมณาราม และบนหอพิมานเพชรมเหศวร์ ตามลำดับ และโปรดเกล้าฯ ให้มีการเจริญพระพุทธมนต์ที่กุฏิใหม่ วัดมหาสมณารามด้วย

วันที่ 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2403 หลังจากงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 56 พรรษาแล้ว เสด็จมาเมืองเพชรบุรีโดยเรือพระที่นั่ง เสด็จถึงปากน้ำตำบลบ้านแหลม เวลา 3 โมงเช้า ถึงพระนครคีรีเวลาบ่าย 2 โมง

วันที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2403 เวลาบ่าย เสด็จพระราชดำเนินเลียบไปบนเขา จนถึงวัดพระนอนใหญ่ (วัดพระพุทธไสยาสน์) เสด็จฯ ทอดผ้าพระกฐินในพระอุโบสถ พระองค์เจ้าหญิงดวงประภาและพระองค์เจ้าหญิงสุดาสวรรค์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จไปในการนี้ด้วย โปรดฯ ให้เล่นเก็บดอกไม้อยู่ริมวิหารพระนอน เวลานั้นแหวนทับทิมพระองค์เจ้าหญิงสุดาสวรรค์ ยอดหลุดตกหายท้าวสมสักดิ์ให้ช่วยเที่ยวหา สีพายคนหนึ่งเที่ยวหาได้ พระองค์เจ้าหญิงสุดาสวรรค์จึงประทานรางวัลแก่ผู้นั้น แหวนนั้นว่ากันว่าเป็นพระธำมรงค์สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ การเสด็จพระราชดำเนินคราวนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา และพระองค์เจ้าหญิงประภัศร พระราชธิดาในพระองค์ พร้อมด้วยพระองค์เจ้าหญิงดวงประภาและพระองค์เจ้าหญิงสุดาสวรรค์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดเขาบันไดอิฐและวัดมหาธาตุ

วันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2403 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ถวายไตรจีวรพระภิกุวัดมหาสมณารามทุกรูปทั้งอาราม แลทำบุญถวายสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ในวันสิ้นพระชนม์ด้วย แล้วโปรดให้ทำบุญฉลองหอศาสตราคมใหม่ (หอพิมานเพชรมเหศวร์) เชิญพระไชยสำริดก้าไหล่และพระหายโศกแห่มาตั้งไว้ในหอศาสตราคมนั้นด้วย

วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2404 (วันจันทร์ เดือน 6 แรม 12 ค่ำ ปีระกา ตรีศก จ.ศ. 1223) ยกพระเจดีย์ศิลา(สุทธเสลเจดีย์) ขึ้นประกอบบนยอดเขาตะวันออก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม ทรงออกแบบตามพระราชดำริ

วันที่ 12 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2404 (วันอังคาร เดือน 12 ขึ้น 10 ค่ำ ปีระกา) ได้เสด็จมาประทับ ณ พระนครคีรีเพื่อทรงทอดพระเนตรปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2404 (วันพุธ เดือน 3 ขึ้น 13 ค่ำ ปีระกา ตรีศก จ.ศ. 1223) (นับแบบปัจจุบันคือ พุทธศักราช 2505) ราชทูตปรัสเซีย เคานต์ ฟรีดริค อาลเบรคท์ ซู ออยเลนบวร์ก (Count Friedrich Albrecht zu Eulenburg) หรือที่ในสมัยนั้นเรียกว่า นายกอนต์เอวเลนเบิก เข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลาไปเที่ยวเมืองเพชรบุรี โดยเดินทางด้วยเรือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้มีพระราชหัตเลขาถึงพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าคัคนางยุคล (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร) ซึ่งประทับอยู่พระนครคีรี ให้ต้อนรับพาเที่ยวตามทางบนเขา พระนอน เขาหลวง บันไดอิฐ และในเมือง หากมีรถอยู่ให้เอารถรับไปเที่ยว ส่วนขากลับโปรดให้จัดเรือพระที่นั่งเสพย์สหายมารับที่เพชรบุรี เพื่อนำไปส่งเรือรบที่สันดอน

เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2404 (นับแบบปัจจุบันคือ พุทธศักราช 2405)(เดือน 4 ปีระกา ตรีศก จ.ศ. 1223) เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีหนังสือถึงพระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ว่า ทูตฮอลันดาขออนุญาตให้นายไตรมัส และลูกจ้างแขกชวา 5 นาย ออกมาพักผ่อนและเที่ยวหาต้นไม้ต่างๆ ในเมืองเพชรบุรี ออกไปปลูก ให้ปลัดจัดแจงที่พักตามสมควร ให้จัดเกวียนและคนนำทางให้ไปเที่ยวตามใจ

วันที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2405 (นับแบบปัจจุบันคือ พุทธศักราช 2406) (วันพุธ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 จ.ศ. 1224) เสด็จพระราชดำเนินมายังพระนครคีรี โปรดให้มีการเฉลิมพระราชมณเฑียรและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขนาดใหญ่ 7 องค์ ในพระสุทธเสลเจดีย์ มีการสมโภช 4 คืน 3 วัน (ตั้งแต่วันพุธ เดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ – วันเสาร์ เดือน 6 ขึ้น 12 ค่ำ) มีการสักการะบูชา ด้วยการตั้งเครื่องสักการะ ประดับฉัตรธง ประทีป รายรอบพระเจดีย์ ประโคมแตร สังข์ พิณ พาทย์ ฆ้อง กลอง นิมนต์พระสงฆ์สวดปริตรพระพุทธมนต์เวลาเย็น เวลาเช้ารับบาตร วันละ 20 รูป พระราชทานไทยธรรมทุกวัน กลางวันสมโภชด้วยการละเล่น โขน หุ่น ละคร กลางคืนมีหนัง ดอกไม้เพลิง และทรงโปรยทานแก่ราษฎร วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2405 เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร

วันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2405 (นับแบบปัจจุบันคือ พุทธศักราช 2406) เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือกลไฟไปประพาสเมืองโดยมีหลักฐานว่าได้เสด็จประพาสเกาะสีชัง ก่อนที่จะเสด็จฯ มาเมืองเพชรบุรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม ประทับที่พระนครคีรีอยู่จนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2405 จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ

วันที่ 10 พฤษภาคม พุทธศักราช 2406 พันเอกโรโบล ได้เชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากฝรั่งเศส เรจิออง ดอนเนอร์ (Legion D'honneur) มาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการนี้โปรดเกล้าฯ ให้ราชทูตมาเที่ยวชมเพชรบุรีและพระนครคีรี

วันที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2406 ภายหลังจากที่ราชทูตเนเธอแลนด์เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น ของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แล้ว โปรดให้คณะราชทูตออกมาเมืองเพชรบุรีเป็นเวลา 4 วัน

วันที่ 5 มกราคม พุทธศักราช 2407 (นับแบบปัจจุบันคือ พุทธศักราช 2408) (วันพฤหัสบดี ขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด ฉศก จ.ศ. 1226) พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเพชรบุรี

วันที่ 13 มกราคม พุทธศักราช 2407 (นับแบบปัจจุบันคือ พุทธศักราช 2408) (วันศุกร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด ฉศก จ.ศ. 1226) โปรดเกล้าฯ ให้ ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ และพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้ามัณยาภาธร พระชนม์ 10 ชันษา ทั้งสองพระองค์ เวลาบ่ายพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งราชธรรมสภา 30 รูป ตั้งขบวนแห่แต่หน้าตำหนักริมแม่น้ำเพชรบุรีมาตามถนนราชวิถี ขึ้นไปฟังพระเจริญ พระพุทธมนต์ 3 วัน

วันที่ 16 มกราคม พุทธศักราช 2407 (นับแบบปัจจุบันคือ พุทธศักราช 2408) (วันจันทร์ แรม 5 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด ฉศก) เวลาเช้าโสกันต์ที่วิมานเทวราชศาสตราคมสถาน เวลาบ่ายแห่สมโภชอีก 1 วัน กระบวนแห่และเครื่องเล่นรายทาง มีทุกสิ่งเหมือนคราวโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ฯ ในกรุงเทพ เว้นแต่ไม่มีเขาไกรลาส การละเล่น เช่น โขน หนัง ละคร เพลง มีละครสำรับเล็กแต่งตัวเข้ากระบวนแห่เป็นนางสระในวันโสกันต์ เวลาค่ำทรงจุดโคมลอยประทีป และโปรดฯ ให้มีละครหลวงแสดงเรื่องอิเหนาเป็นการสมโภช มีเจ้าจอมมารดาวาดพระสนมเอกแสดงเป็นอิเหนา

วันที่ 20 มกราคม พุทธศักราช 2407 (นับแบบปัจจุบันคือ พุทธศักราช 2408)(วันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด ฉศก) เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2407 (นับแบบปัจจุบันคือ พุทธศักราช 2408) (วันจันทร์ เดือน 3 แรม 3 ค่ำ ปีชวด ฉศก) เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชไปประทับพระนครคีรีคืนหนึ่ง ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองราชบุรีและกาญจนบุรีต่อไป

วันที่ 25 มีนาคม พุทธศักราช 2408 (นับแบบปัจจุบันคือ พุทธศักราช 2409) เสด็จระราชดำเนินแปรพระราชฐานยังเมืองเพชรบุรี ประทับที่พระนครคีรีพร้อมด้วยพระราชโอรสธิดาและพระโอรสธิดาของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเสนาบดีผู้ใหญ่ตามเสด็จในช่วงนี้ Mr.W. H. Read เจ้าของบริษัท A. L. Johnson and Co. เดินทางมาเฝ้าฯ เพื่อกราบทูลเรื่องขอวางสายโทรเลขจากร่างกุ้งไปสิงคโปร์ ก่อนเสด็จฯ กลับใน วันที่ 7 เมษายน พุทธศักราช 2409 และในวันที่ 24 เมษายน ศกเดียวกัน รัฐบาลสยามจึงมีหนังสืออนุญาตให้เดินสายโทรเลขนั้น ผ่านดินแดนบางส่วนในสยามได้

จดหมายเหตุ การเสด็จพระราชดำเนินพระนครคีรีในสมัยรัชกาลที่ 5

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้บูรณะพระนครคีรีใหม่ทั้งหมดเพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับแรมแปรพระราชฐาน และเพื่อใช้รับรองพระราชอาคันตุกะด้วย

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเมืองเพชรบุรีโดยเรือพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารเป็นจำนวนมาก เสด็จถึงพลับพลาตำบลบางครก บ้านใหม่ เสด็จขึ้นบนพลับพลา ตรัสกับเจ้าเมืองและกรมการทั้งหลาย แล้วเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถพระที่นั่งสองล้อ ถึงพระนครคีรีทอดพระเนตรพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์และพระที่นั่งราชธรรมสภา

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2418 เสด็จออก ณ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ผู้ว่าราชการเมืองกาญจนบุรีและเมืองเพชรบุรีเข้าเฝ้า แล้วเสด็จประพาสเขาบันไดอิฐ

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2418 เสด็จออก ณ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ข้าราชการเมืองเพชรบุรีเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของ พระราชทานเสื้อผ้าสักหลาดอย่างดีแก่ข้าราชการที่มาเฝ้า คือ พระพลสงคราม หลวงรามฤทธิรงค์ หลวงยงโยธี หลวงภักดีสงคราม นายแย้มเด็กชา หลวงพิพัฒน์เพชรภูมิยกกระบัตร หลวงวิชิตภักดี หลวงมหาดไทย ขุนสัสดี ขุนแพ่ง ขุนแขวง ขุนศุภมาตรา ขุนเทพ ขุนรองปลัด ขุนเทพบุรี โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินแก่พวกเด็กชาที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทคนละตำลึงบ้างครึ่งตำลึงบ้าง คนที่ได้ตำลึงคือคนที่ทรงคุ้นเคยเห็นหน้ากันมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเมืองเพชรบุรี แล้วเสด็จพระราชดำเนินลงมาจากพระนครคีรี ณ ตรงเชิงเขา ตรัสกับหมอแมคฟาร์แลนด์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังถ้ำเขาหลวง ทรงนมัสการพระพุทธรูป 4 องค์ ที่มีพระนามรัชกาลที่ 1 – 4 แล้วเสด็จกลับ

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2418 เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดมหาสมณาราม เชิงพระนครคีรี พระราชทานเงินเป็นมูลกัปปิยภัณฑ์แก่พระมหาสมณวงศ์ เจ้าอาวาส และพระสงฆ์ ทรงแจกเงินแก่สัปบุรุษ

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาโดยเรือพระที่นั่งถึงอ่าวบ้านแหลมประทับแรมบนเรือพระที่นั่ง

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2429 เสด็จโดยเรือบดมายังบนพลับพลาบ้านใหม่ มีข้าราชการเมืองเพชรบุรีเฝ้ารับเสด็จ แล้วเสด็จพระราชดำเนินทรงม้าพระที่นั่งถึงพระนครคีรี ที่ศาลาหน้าเขามหาสวรรค์ มีพระเถรานุเถระสวดชยันโต

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2429 เสด็จพระราชดำเนินประพาสที่ต่าง ๆ บนเขามหาสวรรค์พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายใน มีถ้ำเพิง ถ้ำพังรวมถึงวัดพระพุทธไสยาสน์ ตอนบ่ายเสด็จยังไปเขาหลวง ครั้นเวลา 2 ทุ่มเศษเสด็จออกพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ให้ขุนนางเข้าเฝ้า เวลา 4 ทุ่มเศษเสด็จขึ้น

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2429 เวลาย่ำค่ำประทับทอดพระเนตรการแข่งขันรันแทะโคของราษฎรที่สนามหน้าเขามหาสวรรค์  เวลายามเศษ (21.00น.) เสด็จออกพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ให้เจ้านายข้าราชการเฝ้าฯ โปรดให้ลาวทรงดำขับแคนถวายและพระราชทานรางวัลจนเวลา 5 ทุ่มเศษ เสด็จขึ้น

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2429 เสด็จออก ณ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ทรงนำหมอดันลัป หมอทอมสัน และนายคูเปอร์เข้าเฝ้า รับสั่งเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนและโรงพยาบาล ณ เมืองเพชรบุรี พระราชทานเงินสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจำนวน 30 ชั่ง

วันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2429 เสด็จประพาสพระเจดีย์ยอดเขาริมวัดมหาสมณาราม โปรดให้ พระยาสุรินทรฦๅไชยปฏิสังขรณ์ แล้วเสด็จทางลัดลงมายังวัดมหาสมณารามทรงทอดพระเนตรพระอุโบสถ พระสงฆ์ถวายชัยมงคลคาถา แล้วเสด็จไปตามถนนพระราชดำเนินถึงท่าน้ำแม่น้ำเพชรบุรีแล้วเสด็จลงเรือพระที่นั่งล่องไปตามลำแม่น้ำเพชรบุรี ออกอ่าวบ้านแหลมไปสามร้อยยอด

วันที่ 24 - 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2447 เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองเพชรบุรีเป็นการส่วนพระองค์ หรือที่เรียกกันว่า “เสด็จประพาสต้น”  โดยในวันที่ 28 กรกฎาคม เสด็จพระราชดำเนินยังพระนครคีรี ทรงถวายพุ่มพระสงฆ์เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา

วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเข้าปากอ่าวบ้านแหลมตามลำแม่น้ำเพชรบุรีถึงหน้าจวนผู้ว่าราชการเมือง

วันที่ 13 กันยายน พุทธศักราช 2452 เสด็จพระราชดำเนินไปวัดมหาสมณาราม พระราชทานเงินปฏิสังขรณ์ 800 บาท

วันที่ 16 กันยายน พุทธศักราช 2452 เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระนครคีรี โปรดให้พระสงฆ์ราชาคณะชั้นผู้ใหญ่บางวัดเข้าเฝ้า ในการนี้โปรดให้พระครูมหาวิหาราภิรักษ์ (พุก) เจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณาราม เข้าเฝ้ารับพระราชทานพัดยศและโปรดให้ยกวัดใหญ่สุวรรณารามเป็นวัดหลวงอีกวัดหนึ่ง เวลาเที่ยงเสวยพระกระยาหารกลางวันบนพระนครคีรี

วันที่ 17 กันยายน พุทธศักราช 2452 เสด็จออกให้มหาดเล็กเด็กชาเมืองเพชรบุรีเข้าเฝ้าฯ พระราชทานเหรียญราชรุจิและเงิน ทั้งมีพระราชกระแสชมเชยบรรดามหาดเล็ก ที่ดูแลสิ่งของบนพระนครคีรีไว้ยังคงอยู่บริบูรณ์

วันที่ 5 ธันวาคม  พุทธศักราช 2452 เสด็จประพาสพระนครคีรี ทอดพระเนตรการตกแต่งบนพระนครคีรีเพื่อรับแขกเมือง

วันที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2453 (นับแบบปัจจุบัน คือ พุทธศักราช 2453) ดยุคโยฮัน อัลเบรกต์ (Duke Johann Albrecht of Mecklenberg) ผู้สำเร็จราชการเมืองรันซวิก (Brunswick) พร้อมด้วยเจ้าหญิงอลิสซาเบธ สโตลเบิร์ก รอชซาล่า (Princess Elisabeth of Stolberg-Rossla) พระชายาได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) คอยรับเสด็จ ณ พระนครคีรี คืนนี้มีการจุดดอกไม้เพลิงถวายทอดพระเนตร ท่านดยุคและพระชายาประทับที่พระนครคีรีและเสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยรถไฟพระที่นั่ง ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2453

วันที่ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2453 เสด็จพระราชดำเนินประทับพลับพลาหน้าพระนครคีรี เพื่อรอรับกระบวนแห่นาคหลวง บุตรพระยาสุรินทรฦๅไชยเจ้าเมืองเพชรบุรี เมื่อกระบวนแห่มาถึง เสด็จเข้าในพระอุโบสถวัดมหาสมณาราม ประทับอยู่กระทั่งเสร็จพิธี จึงเสด็จกลับที่ประทับที่พลับพลาบ้านปืน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมณฑลราชบุรีขึ้นใน พุทธศักราช 2437 เมืองเพชรบุรีขึ้นกับมณฑลนี้ พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่เมืองเพชรบุรีหลายครั้ง เพราะอากาศในฤดูฝนถูกกับพระโรคที่ทรงประชวร โดยเฉพาะในเดือนกันยายน อย่างไรก็ดี เดือนนี้ไม่เหมาะที่จะประทับอยู่บนพระนครคีรี ดังนั้นพระองค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นที่บ้านปืนอีกแห่งหนึ่ง แต่การยังไม่แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 โปรดให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ พระราชทานนามว่า พระรามราชนิเวศน์