หอชัชวาลเวียงชัย

event 2018 04

หอชัชวาลเวียงชัย หอนี้สร้างเป็นทรงกลมสูงคล้ายกระโจมไฟ มีบันไดเวียนภายในเพื่อขึ้นสู่ด้านบน ชั้นบนรอบนอกเป็นระเบียงประดับลูกกรงลูกแก้วกระเบื้องเคลือบสีเขียวโดยรอบ หลังคารูปโดม มุงด้วยกระจกโค้ง ภายในโดมห้อยโคมไฟ เมื่อจุดไฟในยามกลางคืนจะส่องแสงเห็นไปได้ไกลถึงชายทะเล นักเดินเรือได้อาศัยแสงไฟจากโคมนี้เป็นประภาคารที่หมายนำเรือเข้าอ่าวบ้านแหลมได้ จากชั้นบนสุดของหอชัชวาลเวียงชัยสามารถชมวิวทิวทัศน์เมืองเพชรบุรีได้โดยรอบตลอดจนถึงชายทะเล จากจดหมายเหตุหมอบรัดเลย์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยใช้เป็นที่ทอดพระเนตรดาวพุธเข้าในเขตวงโคจรของพระอาทิตย์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2404 (จ.ศ. 1223)

เสาธง ตั้งอยู่ด้านหน้าหอชัชวาลเวียงชัยทางด้านทิศใต้ ลักษณะเป็นเสาไม้สูงสำหรับชักธงช้าง ธงชาติสยามในขณะนั้น  สันนิษฐานว่าโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2403 (จ.ศ. 1222) โดยโปรดฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม เป็นผู้ออกแบบ ในคราวแรกไม่โปรดเนื่องจากเห็นว่ามีขนาดเล็ก ต่ำไป ให้แก้ไขเพิ่มความสูงขึ้นและมีสายระยางยึดไว้ ทั้งยังได้โปรดให้หลวงวิสุทธโยธามาตย์ออกแบบทำสายระยางทองเหลืองเพื่อเป็นสายล่อฟ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายแก่สิ่งก่อสร้างจากฟ้าผ่าด้วย ส่วนเสาเดิมที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรมออกแบบไว้นั้นให้ไปตั้งไว้ที่หอวิมานเทวราช หอสาสตราคมสฐาน (พิมานเพชรมเหศวร์) สำหรับชักธงมหามงกุฎซึ่งเป็นธงประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน ขณะพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่พระนครคีรี

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายในหนังสือ ตำนานธงไทย ความตอนหนึ่ง ว่า “ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์ธงเพิ่มเติมขึ้นจากธงช้างซึ่งใช้อยู่เดิมอีก 2 อย่าง คือ ธงมหามงกุฎ เป็นธงสำหรับพระองค์ พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ ในพื้นสีขาบมีพระมหามงกุฎ และฉัตร 7 ชั้น 2 ข้าง สำหรับชักบนเสาเรือพระที่นั่ง เป็นที่หมายว่า ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือลำนั้น และโปรดเกล้าฯ ให้ชักขึ้นในพระบรมมหาราชวังด้วย และธงไอยราพรต ลายเป็นอย่างพระราชอัญจกรไอยราพต อันเป็นตราประจำแผ่นดิน สำหรับชักขึ้นในพระบรมมหาราชวังในเวลาที่มิได้ประทับอยู่ในพระนคร”