ประวัติที่มาและความสำคัญ

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์
           อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ําแควน้อย ในเขตตําบลเมืองสิงห์ อําเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 641 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา ประกอบด้วยเมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์เมืองสิงห์เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ําแควน้อย อันเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงทําให้มีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และมีพัฒนาการทางด้านวัฒนธรรมต่อเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ ดังปรากฏพบหลักฐานทางด้านโบราณคดีจํานวนมาก ทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนให้เห็นอารยธรรมช่วงหนึ่งของมนุษย์ซึ่งเคยมีบทบาทในดินแดนแถบจังหวัดกาญจนบุรีคือ โครงกระดูกมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัย ก่อนประวัติศาสตร์ กําหนดอายุได้ประมาณ 2,000 ปีมาแล้วที่พบบริเวณทางทิศใต้ ของเมืองสิงห์ที่ติดกับแม่น้ําแควน้อยและหลักฐานในสมัยประวัติศาสตร์ อันเป็นช่วงเวลาที่มีการสร้างเมืองสิงห์ เช่น การมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือการสร้างศาสนสถานคือ ปราสาทเมืองสิงห์ไว้กลางเมือง หรือการพบประติมากรรมหลายรูปแบบอันเป็นศิลปะแบบขอมสมัยบายน จากคุณค่าและความสําคัญดังกล่าว กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2478 ทั้งนี้ได้ดําเนินการพัฒนาเมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2517 - 2519 ต่อมาจึงจัดทําเป็นโครงการพัฒนาโบราณสถานปราสาทเมืองสิงห์และเสนอให้บรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พุทธศักราช 2520 - 2524) และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พุทธศักราช 2525 - 2529) จึงเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์และทําการขุดแต่งและบูรณะจนแล้วเสร็จ พร้อมกับเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2530 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดําเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิด
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์
พัฒนาการของมนุษย์ในประเทศไทยมีมานานนับหลายหมื่นปีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์โดยพบหลักฐานที่ยืนยันการดํารงอยู่ของมนุษย์สมัยโบราณในประเทศไทยหลายแห่งซึ่งหลักฐานที่สําคัญส่วนหนึ่งพบในภาคตะวันตกของประเทศไทยโดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ําสําคัญ 2 สายคือ แม่น้ําแควใหญ่และแม่น้ําแควน้อย ในที่นี้จะกล่าวถึงพัฒนาการของมนุษย์บริเวณลุ่มแม่น้ําแควน้อย อันมีประวัติศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ แม่น้ําแควน้อยเกิดจากลําธารเล็ก ๆ บนภูเขาในเขตอําเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีและลําภาชีที่ไหลมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ในเขตอําเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี มีความยาวประมาณ 230 กิโลเมตร และไหลไปบรรจบกับแม่น้ําแควใหญ่ที่ ตําบลปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี กลายเป็นแม่น้ําแม่กลอง บริเวณตอนปลายของแม่น้ําแควน้อยก่อนที่จะมาบรรจบกับแม่น้ําแควใหญ่นั้น เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกเพราะเป็นดินที่เกิดจากการทับถมของดินตะกอนที่ไหลมาจากแม่น้ํา จึงเป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้มีผู้คนเข้ามาอาศัย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานทางโบราณคดีที่สําคัญคือ เศษภาชนะดินเผาและโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่พบในบริเวณลุ่มแม่น้ําแควน้อย ได้แก่ บ้านเก่า บ้านลุ่มสุ่ม ถ้ำพระไทรโยค ถ้ำรูป (เขาเขียว) และที่เมืองสิงห์ ดินแดนบริเวณนี้คงมีผู้คนอาศัยเรื่อยมาและมีการติดต่อกับชุมชนอื่นในบริเวณใกล้เคียงคือ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ําแม่กลอง ในเขตจังหวัดกาญจนบุรีและราชบุรี ต่อมาพัฒนากลายเป็นบ้านเมืองที่สําคัญ โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ได้ปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนว่า บริเวณลุ่มแม่น้ําแควน้อยเป็นเส้นทางการติดต่อ ระหว่างภาคกลางของประเทศไทยกับประเทศพม่าทางภาคใต้ รู้จักทั่วไปว่าเส้นทางด่านพระเจดีย์สามองค์สภาพทั่วไปของเมืองสิงห์เมืองสิงห์ตั้งอยู่ที่ราบริมฝั่งแม่น้ําแควน้อยที่แวดล้อมด้วยเทือกเขาเป็นแนวยาว อยู่โดยรอบมีลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กําแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลงและมีประตูเข้าออก 4 ด้าน กําแพงเมืองด้านในถมดินลาดเป็นคัน โดยกําแพงเมืองด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ปรากฏแนวคูน้ำคันดินล้อมรอบอีก 7 ชั้น ส่วนกําแพงเมืองทางทิศใต้นั้นใช้ประโยชน์จากลําน้ำแควน้อยในการเป็นคูเมือง จึงทําให้กําแพงเมืองทิศนี้คดโค้งไปตามลําน้ำ ไม่เป็นเส้นตรง การมีคูน้ำคันดินนี้สันนิษฐานว่า คงทําเพื่อระบายน้ำที่ไหลลงมาจากเทือกเขาเข้าสู่เมืองในฤดูน้ำหลากและในฤดูฝนภายในเมืองนั้นจะพบสระน้ําทั้งขนาดใหญ่และเล็กส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีจํานวน 6 สระ คาดว่าคงไม่ได้ใช้เป็นที่กักเก็บน้ําเนื่องจากเมืองสิงห์มีน้ําใช้ที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว การมีสระน้ํานั้นสันนิษฐานว่าเพื่อจุดประสงค์ทางด้านความเชื่อทางศาสนา ดังที่พบในเมืองโบราณแบบขอมโดยทั่วไปนอกจากนี้ภายในเมืองยังมีสิ่งก่อสร้างทางศาสนาอีก 4 แห่ง ซึ่งไม่ปรากฏชื่อเรียกอย่างแน่ชัด ส่วนพื้นที่บริเวณนอก เมืองส่วนใหญ่ใช้ในการเกษตรกรรม
หลักฐานจากจารึกที่เกี่ยวกับปราสาทเมืองสิงห์
         จากจารึกปราสาทพระขรรค์ที่พบในเมืองพระนครของกัมพูชากล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของอาณาจักรขอมได้ทรงประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาถ (รูปจําลอง) ในศาสนสถานถึง 23 เมือง ซึ่งบรรดาชื่อเมืองต่าง ๆ เหล่านี้เชื่อกันว่ามีอยู่ 6 เมืองที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุศิลปะแบบขอมร่วมสมัยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมืองดังกล่าวมีอยู่หนึ่งเมืองที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบริเวณที่ตั้งของปราสาทเมืองสิงห์คือ เมืองศรีชัยสิงห์บุรี เพราะนอกจากจะมีชื่อพ้องกับชื่อเมืองที่ปรากฏในจารึกแล้ว ประสาทเมืองสิงห์แห่งนี้ยังมีลักษณะทางด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมแบบขอม ในสมัยบายนที่สนับสนุนว่าน่าจะสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการหลายท่านไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่าชื่อเมืองสิงห์นั้นเป็นชื่อเรียกกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น สันนิษฐานว่าชื่อศรีชัยสิงห์บุรีน่าจะเป็นจังหวัดสิงห์บุรีมากกว่า เพราะสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นชื่อเก่าของจังหวัดสิงห์บุรี ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แต่ที่จังหวัดสิงห์บุรีก็ไม่พบหลักฐานหรือโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับศิลปะแบบขอมสมัยบายนเลย ปัญหาเรื่องปราสาทเมืองสิงห์จะเป็นสถานที่เดียวกับเมืองศรีชัยสิงห์บุรีตามที่ นักวิชาการเชื่อหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ในเวลานี้ ซึ่งจะต้องหาหลักฐาน ทางโบราณคดีอื่นมาสนับสนุนอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานทางโบราณคดีที่ต้องขุดค้นเพิ่มเติมภายในเมืองสิงห์ นอกเหนือจากการขุดค้นในโบราณสถานจํานวน 4 แห่ง และหลุมโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีเอกสารที่กล่าวถึงปราสาทเมืองสิงห์ว่า เมืองสิงห์สร้างขึ้นในสมัยที่อาณาจักรขอมมีอํานาจเหนือดินแดนแห่งนี้ และเดิมคงไม่ใช่เป็นเมืองขนาดใหญ่นัก เพราะพบโบราณสถานที่มีขนาดเล็ก ต่อมาเมื่อบ้านเมืองในบริเวณภาคกลางของประเทศไทยได้เข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้แทนอาณาจักรขอมที่เสื่อมอํานาจลง โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น พระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองบ้านเมืองคงมีพระราชดําริว่าเมืองสิงห์เป็นเมืองเล็ก ไม่มีความสําคัญอย่างใดจึงไม่มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองไปปกครองและในทําเนียบศักดินาหัวเมืองก็ไม่ปรากฏชื่อเมืองสิงห์อยู่เลย จึงเป็นที่เข้าใจว่าเมื่ออาณาจักรขอมหมดอํานาจลงแล้ว เมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์คงถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้างไป
หลักฐานจากจารึกที่พบในปราสาทเมืองสิงห์
         จากแท่นฐานประติมากรรมที่พบบริเวณโบราณสถานหมายเลข 2 ที่มีอักษรข้อความสั้น ๆ อ่านว่าพรญาไชยกร สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นนามของผู้สร้างหรือนามของ ประติมากรรมบุคคลหรืออาจเป็นนามรูปเหมือนเจ้าของปราสาทหรือผู้สร้างปราสาทเมืองสิงห์แห่งนี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าประติมากรรมดังกล่าวได้หลุดหายไปแล้ว และเมื่อได้ศึกษาลักษณะเส้นอักษรในจารึกแล้วจะเห็นได้ว่า จารึกหลักนี้บันทึกด้วยอักษรขอมที่มีลักษณะเหมือนกับอักษรในจารึกดงแม่นางเมืองและจารึกหลังพระพุทธรูปนาคปรก เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วปรากฏว่าอักษรในจารึก ดังกล่าวมีเอกลักษณ์เฉพาะตนในรูปแบบท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างจากรูปอักษรที่ใช้ในกลุ่มเมืองราชธานี และส่วนที่สังเกตได้ชัดคือลักษณะรูปสัณฐานและองค์ประกอบของเส้นอักษร คล้ายกับอักษรที่ปรากฏในกลุ่มจารึกประจําสถานพยาบาลหรืออโรคยาศาลที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของอาณาจักรขอมในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 แต่ลักษณะของรูปอักษรที่เมืองสิงห์ก็มีการเปลี่ยนแปลงให้มีความแตกต่างไปจากรูปอักษรของอาณาจักรขอม
หลักฐานจากเอกสารประวัติศาสตร์
            นอกจากจารึกที่พบในปราสาทเมืองสิงห์แล้วยังไม่สามารถหาหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องราวของปราสาทเมืองสิงห์ได้อีกจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกของกรุงรัตนโกสินทร์จึงปรากฏชื่อเมืองสิงห์ โดยพระองค์ได้ทรงสถาปนาเมืองสิงห์ขึ้นมาใหม่ โดยมีฐานะเป็นเพียงเมืองด่านเล็ก ๆ ที่มีเจ้าเมืองปกครองและขึ้นอยู่กับเมืองกาญจนบุรี แต่เนื่องจากบริเวณนี้เป็นที่กันดาร เจ้าเมืองจึงไม่ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่แต่ทว่าไปอยู่ที่บ้านโป่ง และส่งหมวดลาดตระเวนไปคอยตรวจตราเป็นประจําเจ้าเมือง จะขึ้นไปบัญชาการที่เมืองนี้กรณีฉุกเฉินบางครั้งบางคราวเท่านั้น ต่อมาเมื่อถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามแก่เจ้าเมืองที่ครองเมืองด่านเล็ก ๆ ตามลําน้ําแควน้อยใหม่ทั้งหมด เช่น พระราชทานนามเจ้าเมืองไทรโยคว่า พระนิโครธาภิโยค พระราชทานนามเจ้าเมืองตะกั่วป่าว่าพระชินดิษฐบดี ส่วนเจ้าเมืองสิงห์ได้รับพระราชทานนามว่าพระสมิงสิงห์บุรินทร์ เมืองสิงห์ดํารงฐานะเป็นเมืองด่าน เรื่อยมาจนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นใหม่ เมืองสิงห์จึงได้ลดฐานะลงเป็น ตําบลเรียกกันว่าตําบลเมืองสิงห์เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้  
หลักฐานจากสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่พบในปราสาทเมืองสิงห์
     แต่เดิมนั้นการศึกษาความเป็นมาหรืออายุของการสร้างปราสาทเมืองสิงห์จะให้ความสนใจเฉพาะโบราณสถานหมายเลข 1 และจากประติมากรรมรูปเคารพทางพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่พบทั่วไปในบริเวณปราสาทเมืองสิงห์เท่านั้น โดยการเปรียบเทียบกับรูปแบบทางศิลปกรรมของขอม ที่มีการกําหนดอายุไว้แล้ว ซึ่งจากการศึกษาสรุปได้ว่า โบราณสถานหมายเลข 1 เป็นศิลปะแบบขอมสมัยบายนประมาณ พุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งตรง กับสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของอาณาจักรขอมที่ได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามายังดินแดนประเทศไทย แต่ปัจจุบันได้มีการศึกษาเพิ่มเติมจากโบราณสถานหมายเลข 2 จากกําแพงเมืองคูน้ําคันดินและจากประติมากรรมรูปเคารพบางรูปหรือแม้แต่ลวดลายปูนปั้นประดับตัวปราสาท ซึ่งดูเหมือนว่ามีความสอดคล้องกันแต่แท้จริงยังมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ้างคือในขณะที่ประติมากรรมรูปเคารพเป็นศิลปะแบบขอมสมัยบายนแต่ตัวปราสาทรวมทั้งลายปูนปั้นเป็นการลอกเลียนแบบที่ช่างพื้นเมืองยังไม่สันทัดในงานสถาปัตยกรรมนี้ ได้ก่อสร้างปรางค์แต่ละองค์ไม่สมดุลกัน จนต้องมีการแก้ไขด้วยการพอกปูนเพื่อปรับรูปทรงขององค์ปรางค์แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด ดังจะเห็นจากการย่อมุมที่ไม่เท่ากัน ของประตูปรางค์แต่ละองค์ก็ไม่ตรงกัน ลักษณะเช่นนี้จะไม่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมแบบขอมแท้ ๆ ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่กว่านี้หลายเท่า จากหลักฐานนี้ทําให้เกิดแนวคิดใหม่ว่าโบราณสถานในปราสาทเมืองสิงห์ไม่น่าจะเป็นศิลปะร่วมสมัยแบบขอม สมัยบายนหรือสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7            หลังจากที่อาณาจักรขอมได้เสื่อมอํานาจลงประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 18-19 ช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการรวมกลุ่มของบ้านเมืองในบริเวณนี้เป็นแว่นแคว้นต่าง ๆ เพื่อแข่งขันการสร้างอํานาจแทนที่อาณาจักรขอมที่เสื่อมอํานาจลง บ้านเมืองบางแห่ง ได้นําเอาคติทางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้ามาเสริมสร้างเพิ่มเติม ดังจะเห็นจากความพยายามของกรุงสุโขทัย ในระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) หรือในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่พยายามสืบทอดคติความเชื่อของขอมมาผสมผสานกับคติทางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทจากแนวคิดนี้จึงอาจกําหนดอายุการก่อสร้างของเมืองสิงห์และศาสนสถานภายในเมืองสิงห์ว่า คงจะก่อสร้างในช่วงหัวเลี้ยว หัวต่อที่อาณาจักรขอมเสื่อมอํานาจลง พร้อมกับช่วงของการแข่งขันสร้างอํานาจของบ้านเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้โดยนํารูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบขอมมาลอกเลียนแบบ ดังจะพบเห็นได้จากสถาปัตยกรรมแบบขอมที่สร้างโดยช่างพื้นเมืองตามที่ต่าง ๆ เช่น ที่ปรางค์วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรีหรือที่ปรางค์วัดมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น หรือที่โบราณสถานหมายเลข 2 ของเมืองสิงห์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ชํานาญในการสร้างของช่างพื้นเมืองจนต้องมีการก่อสร้างใหม่ที่ดีขึ้น ได้แก่ โบราณสถานหมายเลข 1 หรือปราสาทเมืองสิงห์ ส่วนประติมากรรมรูปเคารพที่พบบริเวณปราสาทเมืองสิงห์หรือที่อื่น ๆ ที่เป็นฝีมือของช่างขอมแท้นั้น คาดว่าน่าจะเป็นประติมากรรมที่นํามาจากประเทศกัมพูชา ภายหลังที่อาณาจักรขอมเสื่อมอํานาจลง อาจจะนํามาโดยนักบวชของขอมเอง แม้จะมีแนวคิดเกี่ยวกับประวัติที่แตกต่างกันไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุและการคงอยู่ของเมืองสิงห์ แต่แนวคิดเหล่านี้ก็พอสรุปถึงอายุการก่อสร้างไม่แตกต่างกันมากนักคือ เมืองสิงห์และโบราณสถานในเมืองสิงห์นั้นมีการก่อสร้างประมาณช่วง พุทธศตวรรษที่ 18-19 หรือประมาณ 800 ปีมาแล้วและเป็นเมืองที่สร้างขึ้นตามคติแบบขอม ที่มักสร้างศาสนสถานไว้กลางเมือง รูปแบบของสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่พบนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับศิลปะแบบขอมสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่มีลักษณะของศิลปะท้องถิ่นเข้ามาผสมอยู่ด้วย โดยเป็นโบราณสถานเนื่องในพระพุทธ ศาสนานิกายมหายาน รูปเคารพที่สําคัญ ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพุทธรูปนาคปรกและนางปรัชญาปารมิตา ซึ่งรูปเคารพทั้ง 3 นี้รวมเรียกว่ารัตนตรัยมหายาน